Google

Wednesday, September 23, 2009

Development : Capital

การพัฒนา : ทุน

ปัจจัยการผลิต(อีก 2 ปัจจัย คือ ที่ดินและแรงงาน) ซึ่งแสดงออกมาในรูปของเงินและสินค้าผู้ผลิต การใช้ทุนเพื่อการขยายศักยภาพทางการผลิตจะกระทำได้ต้องอาศัย (1) กำไร (2)จำนวนของกำไรที่มีการออมไว้และ (3) การนำเงินที่ออมไว้เข้าสู่การลงทุนในรูปของสินค้าทุน ในรัฐทุนนิยมที่เจริญแล้วนั้นจะมีการส่งเสริมให้มีการรวมทุนด้วยวิธี(1) สร้างตลาดที่มีความมั่นคง (2) ให้มีระบบการธนาคารทำงานอย่างเต็มที่ และ(3) ให้ภาครัฐบาลทำการควบคุมนโยบายการคลังและการเงิน ส่วนในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์นั้น รัฐจะเข้าวางแผนชี้นำให้มีการนำรายได้ของชาติจำนวนมากๆมาใช้พัฒนาสินค้าทุน แหล่งเงินทุนของรัฐด้อยพัฒนาทั้งหลาย ได้แก่ (1)เงินออมภายในประเทศ (2)เงินลงทุนของภาคเอกชนจากต่างประเทศ (3) เงินจากการค้า และ (4) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทุนจะช่วยจัดหาปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ อาคาร เครื่องจักรกล อุปกรณ์ เครื่องมือ พลังงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่ง ฯลฯ


ความสำคัญ การสะสมทุนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหมู่รัฐที่เจริญแล้ว และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศด้อยพัฒนา อย่างไรก็ดี การลงทุนในรูปของเงินทุนแท้ๆจะบังเกิดขึ้นมาได้นั้นต้องมีการพิจารณากันทั้งในด้านการตลาดและอุปสงค์ของสินค้า ในทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติของเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้น ได้กำหนดให้ภาครัฐบาลทำการส่งเสริมให้มีการถ่ายโอนเงินออมเข้าสู่การลงทุนเมื่อชาติประสบปัญหาการขาดแคลนเงินทุน หรือเมื่อเกิดภัยคุกคามจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ในหมู่ประเทศด้อยพัฒนานั้น การสะสมทุนโดยผ่านทางการค้าต่างประเทศ(อันเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญ)จะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากอัตราการค้ามีราคาลดลงมากๆ จากลัทธิปกป้อง(แนวความคิดในการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศด้วยวิธีการปกป้อง หรือการกีดกันสินค้าเข้าด้วยการใช้มาตรการต่างๆ) ในประเทศที่เจริญแล้ว และจากการพัฒนาสิ่งสังเคราะห์เพื่อนำมาใช้แทนสินค้าขั้นปฐม การลงทุนของภาคเอกชนต่างประเทศในรัฐด้อยพัฒนานั้น มิได้เป็นไปดังความคาดหมาย เพราะว่าผู้ลงทุนจากรัฐที่เจริญแล้วนั้นเกรงกลัวว่าจะมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศด้อยพัฒนา และมีแรงจูงใจอยากจะไปลงทุนในประเทศอุตสาหกรรมมากกว่าเพราะโอกาสที่การลงทุนมีความปลอดภัยจะมีมากกว่ากัน ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว โครงการให้ความช่วยเหลือในรูปให้เปล่าก็จะมุ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและในด้านการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ที่เป็นเงินทุนแท้ๆมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ กลุ่มธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแอฟริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารพัฒนาระหว่างรัฐอเมริกา ก็ได้ให้เงินทุนโดยปล่อยเงินกู้ประเภทที่มีเงื่อนไขเข้มงวดเสียส่วนใหญ่

Development : Economic Growth

การพัฒนา : การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การเพิ่มทวีของผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิของชาติ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะวัดได้โดยใช้ฐานจากค่าของเงินตราในสมัยนั้นๆเป็นเกณฑ์วัด หรืออาจจะปรับแต่งตัวเลขโดยวิธีพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร และปัจจัยทางภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืดก็ได้ นักเศรษฐศาสตร์ถือว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5 เปอร์เซ็นต์นับได้ว่าเป็นอัตราที่น่าพอใจสำหรับชาติส่วนใหญ่ มีบางชาติที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์นี้ แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ถึงกัน ถึงแม้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศจะสามารถเพิ่มพูนรายได้มวลรวมประชาชาติในอัตราสูง แต่เมื่อนำตัวเลขมาปรับกับการเจริญเติบโตทางด้านประชากรแล้ว อัตราเฉลี่ยรายหัวสุทธิก็จะไม่เกิน 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีบางชาติเหมือนกันมีรายได้เฉลี่ยรายหัวต่ำมากแม้ว่าจะมีรายได้ประชาชาติสูงก็ตาม

ความสำคัญ การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่รัฐที่มีระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และระบบสังคมที่แตกต่างกัน เป็นไปด้วยความรุนแรงเพราะแต่ละรัฐก็ต่างพยายามจะให้ฝ่ายตนบรรลุถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงกว่ารัฐคู่แข่งของตนทั้งนั้น ตามหลักการมีอยู่ว่ารัฐด้อยพัฒนาที่มีฐานะยากจนจะสามารถบรรลุถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่ารัฐที่เจริญแล้วได้ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ (1) รัฐด้อยพัฒนามีส่วนเกินทางด้านแรงงานและด้านทรัพยากร และ (2) รัฐด้อยพัฒนามีฐานทางเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าของประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่ก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นว่ามีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งสองฝ่ายที่ทำการต่อสู้แข่งขันกันทางด้านอุดมการณ์ทั้งฝ่ายทุนนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่างก็อ้างว่าฝ่ายตนมีระบบที่จะช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล้ำเลิศกว่า แต่ด้วยเหตุที่แต่ละฝ่ายมีการวัดค่านิยมเกี่ยวกับสินค้าและการบริการที่แตกต่างกัน ก็จึงทำให้ยากที่จะทำการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตนี้ในระหว่าง 2 ประเทศอย่างเช่นในกรณีของสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต(ในอดีต)ได้ ข้างฝ่ายชาติที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนั้นก็ได้หันเข้าไปยอมรับระบบที่จะเอื้ออำนวยให้ฝ่ายตนสามารถบรรลุถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วที่สุด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในสมการอำนาจ เพราะเป็นฐานสนับสนุนเบื้องต้นให้สามารถดำเนินโครงการต่างๆทั้งในต่างประเทศและในประเทศได้

Development : Infrastructure

การพัฒนา : โครงสร้างพื้นฐาน

พื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่จะสนับสนุนแรงผลักดันทางสังคมเพื่อให้บรรลุถึงความทันสมัยได้ การพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันเพื่อให้การสนับสนุนความพยายามของชาติได้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ถนนหนทาง เขื่อน โรงงานพลังงาน ระบบคมนาคม ระบบชลประทาน และระบบขนส่ง เมื่อได้มีการสร้างฐานโครงสร้างพื้นฐานนี้แล้ว เศรษฐกิจของชาติหากมีทุนมาสนับสนุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแล้วก็จะเคลื่อนไหวต่อไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับพอพึ่งพาตนเองได้

ความสำคัญ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงื่อนไขสำคัญก่อนที่จะมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญในระดับต้นๆในแผนการสร้างความทันสมัยของรัฐด้อยพัฒนาทั้งหลาย โครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ต่างประเทศของรัฐตะวันตกทั้งหลายซึ่งทั้งนี้ก็รวมทั้งของสหรัฐอเมริกาด้วยนั้น ต่างก็มีรากฐานจากสมมติฐานที่ว่า เมื่อได้มีการสร้างฐานของโครงสร้างพื้นฐานและมีการพัฒนาทักษะทางเทคนิคต่างๆในรัฐด้อยพัฒนาแล้ว ก็จะส่งผลเกิดเป็นแรงดึงดูดให้มีเงินลงทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศไหลเข้ามาสนับสนุนกระบวนการสร้างความทันสมัยนี้ได้ ในหลายรัฐแรงงานส่วนเกินในภาคเกษตรกรรมได้ละทิ้งผืนแผ่นดินที่ทำมาหากินของตนเข้าไปรวมตัวอยู่ในเมืองเพื่อใช้แรงงานในโครงการก่อสร้างต่างๆที่จะต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมากเนื่องจากยังขาดแคลนเครื่องจักรกลที่ทันสมัย สังคมในรัฐที่มีความเจริญก้าวหน้าในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขาดแคลนเงินทุนที่จะนำไปใช้กับฐานนี้ให้เกิดมีประสิทธิผลขึ้นมาได้นั้น ก็จะทำให้มวลชนเกิดความเก็บกดก่อความวุ่นวายทางสังคมและก่อความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองได้

Development : Revolution of Rising Expectations

การพัฒนา : การปฏิวัติความคาดหวังที่สูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเจตคติ(ซึ่งมีมากในหมู่ประชากรหลายล้านคนในชาติที่มีฐานะยากจนทั่วโลก) จากการทอดอาลัยตายอยากปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมและยอมรับว่าความยากจนเป็นเวรกรรมติดตัวมาแต่อดีตชาตินั้น มาเป็นการมองโลกในแง่ที่ดีว่าปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นมาได้ การปฏิวัติความคาดหวังที่สูงขึ้นนี้เกิดขึ้นมาก็เพราะมีการปรับปรุงทางด้านการคมนาคม ทำให้ประชาชนในรัฐด้อยพัฒนาได้รับรู้สภาวะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในชาติที่พัฒนาแล้ว และให้การยอมรับว่าสังคมด้อยพัฒนาสามารถปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นมาได้โดยการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญ การปฏิวัติการคาดหวังที่สูงขึ้นนี้ได้ทำให้เกิด”ช่องว่างของความเก็บกด”ที่มีอันตรายเพิ่มขึ้นในรูปความแตกต่างระหว่างความคาดหวังกับความสำเร็จ เมื่อสัญญาณของการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ปรากฏให้เห็นตามประเทศต่างๆส่วนใหญ่แล้ว ก็จะนำพาไปสู่การก่อตัวของความคาดหวังที่จะให้มีการปรับปรุงให้ดีมากขึ้นไปกว่าเดิม แต่เนื่องจากว่าในประเทศด้อยพัฒนามีประชากรล้นประเทศจึงทำให้ไม่สามารถก้าวไปสู่ความก้าวหน้าเหล่านี้ซ้ำยังทำให้มาตรฐานการครองชีพลดลงมาด้วย เมื่อช่องว่างระหว่างสังคมคนรวยกับสังคมคนจนขยายตัวออกไปทั่วโลกความรู้สึกทางชาตินิยม ความต้องการปกครองตนเอง และการใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ได้กลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษสำหรับหมู่รัฐที่มีฐานะยากจนทั้งหลาย ข้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ใช้วิธี “ตีสองหน้า” คือ ด้านหนึ่งก็ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐที่มีฐานะยากจนเหล่านี้ได้เกิดการพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้ฉกฉวยนำความเก็บกดที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการสนับสนุนให้มีการโค่นล้มรัฐบาลเดิมไปเสียเลย นโยบายของฝ่ายตะวันตกอย่างหนึ่ง ก็คือ ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่รัฐบาลในรัฐที่มีฐานะยากคนเหล่านี้เพื่อให้ทำการปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้วิธีการรุนแรง

Development : Technology

การพัฒนา : เทคโนโลยี

การใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และทักษะมนุษย์ไปแก้ปัญหาในด้านศิลปะของภาคปฏิบัติหรือภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีจะสูงหรือต่ำนั้นส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับการวิจัยและการพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) กล่าวคือ เป็นการแสวงหาความรู้ขั้นพื้นฐานแล้วนำความรู้นั้นไปใช้กับนวัตกรรม กระบวนการสร้างความทันสมัยในโลกปัจจุบันเป็นเรื่องของการถ่ายโอนทักษะต่างๆจากสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคนิคแล้วไปสู่สังคมที่ยังด้อยพัฒนา


ความสำคัญ เทคโนโลยีที่ได้รับการปรับปรุงแล้วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิวัติทางด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหาร การผลิตทางด้านอุตสาหกรรม การคมนาคม การขนส่ง และการแพทย์ ในทางกลับกันนั้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลต่างๆขึ้นมา อาทิ อันตรายจากสงครามนิวเคลียร์ การปฏิวัติการคาดหวังที่สูงขึ้น การขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ -การโฆษณาชวนเชื่อ – การเศรษฐกิจที่กระจายไปทั่วโลก และภัยคุกคามจากการมีประชากรล้นโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีผลกระทบ คือ จะทำให้สังคมไม่สามารถปรับตัวหรือจัดการเกี่ยวกับผลของความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในสังคมได้ทัน ระดับสูงหรือต่ำทางเทคโนโลยีของชาติใดชาติหนึ่งเมื่อเทียบกับชาติอื่น(โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาติที่มีศักยภาพเป็นศัตรู) เป็นเกณฑ์สำคัญในการวัดค่าอำนาจชาติได้

Development : Third World Debt Crisis

การพัฒนา: วิกฤติการณ์หนี้สินของโลกที่สาม

สภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอันเป็นผลมาจากการมีหนี้สินมากของกลุ่มประเทศในโลกที่สามที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารเอกชนของประเทศตะวันตกแล้วไม่สามารถผ่อนชำระหนี้คืนได้ วิกฤติการณ์หนี้สินระดับโลกนี้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุต่อไปนี้ คือ (1) เพราะสถาบันเงินทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลปล่อยเงินกู้ออกไปมากเกินไป (2)เพราะภาวะหนี้สินพอกพูนเป็นหางหมูในหมู่ประเทศโลกที่สามและรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์หลายประเทศ และ(3)เพราะประเทศที่เป็นลูกหนี้หลายประเทศไม่สามารถผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่องค์การให้บริการเงินกู้เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอได้ เมื่อลูกหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สินเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆในช่วงปลายทศวรรษปี 1980 ก็ได้ก่อให้เกิดสภาวะวิกฤติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดการเงินของโลก ในปี ค.ศ. 1988 ขนาดของหนี้พอกพูนโตขึ้นๆมากจากผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ ซึ่งทำให้มียอดเงินกู้จำนวนทั้งสิ้นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ วิกฤติการณ์หนี้สินส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผลของวิกฤติการณ์น้ำมันโลก จากภาวะเงินเฟ้อในประเทศกลุ่มโลกที่สามหลายประเทศ และจากความต้องการของประเทศเหล่านี้ที่อยากจะได้ทุนไปพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้แก่เศรษฐกิจของตน ประเทศลูกหนี้ที่สำคัญ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ ไอเวอร์รีโคสต์ เม็กซิโก โมร็อกโก ไนจีเรีย เปรู และฟิลิปปินส์ ในจำนวนนี้บราซิลและเม็กซิโกเป็นหนี้จำนวนมากที่สุด


ความสำคัญ การมีหนี้สินมากมายอยู่ทั่วโลกนี้ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ร้ายแรงขึ้นทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ อันมีผลกระทบตั้งต่อเจ้าหนี้เองและต่อลูกหนี้เสมอหน้ากัน การไม่ยอมชำระหนี้และการขมขู่ว่าจะไม่ชำระหนี้นี้ปกติจะส่งผลให้มีการปรับแต่งตารางการชำระหนี้ของชาติที่ไม่ยอมชำระหนี้นั้น ตลอดจนจะมีผลต่อการปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และเมื่อไม่นานมานนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารโลกที่ได้หาทางจะให้ประเทศลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ต่อไป มีหลักปฏิบัติอยู่ว่าเมื่อจะปล่อยเงินกู้ให้นั้น ประเทศที่จะรับเงินกู้จะต้องตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภายในชาติของตน ซึ่งทั้งนี้ก็รวมทั้งจะต้องลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐบาลและนำมาตรการประหยัดมาใช้สำหรับประชาชนทั้งประเทศด้วย เงื่อนไขเช่นนี้เมื่อนำไปใช้กับประเทศที่มีประชากรล้นประเทศและมีภาวะยากจนกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว ก็จะทำให้เกิดการประท้วง เกิดการจลาจล และเกิดการกบฏ ในช่วงทศวรรษปี 1980 นอกจากจะมีเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แล้วก็ยังมีเงินกู้ที่ปล่อยจากธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี) ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อขยายเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ ให้สามารถชำระหนี้ที่มีเป็นจำนวนมหาศาลในอนาคตได้ ประเทศเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์หนี้สินโลกครั้งนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กลุ่มจี-6 ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาแนวทางและนโยบายใหม่ที่จะมิให้เกิดการ ”ชักดาบ” ไม่ยอมชำระหนี้ ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะเกิดผลร้ายแรงตามมา คือ จะทำให้เกิดสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปให้ประเทศลูกหนี้หยุดการชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และก็จะทำให้ธนาคารของชาติตะวันตกเกิดการล้มละลาย กับทั้งจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกตามมาในที่สุด

Development : Underdevelopment

การพัฒนา : การด้อยพัฒนา

สภาวะที่แสดงออกถึงความล้าหลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เมื่อวัดโดยใช้มาตรฐานของสังคมที่พัฒนาแล้ว ลักษณะพิเศษของการด้อยพัฒนามีดังนี้ คือ (1) รายได้และผลิตภาพทั้งในระดับชาติและระดับรายหัวต่ำ (2) การไม่รู้หนังสือของประชากรมีอัตราสูง (3) มีอัตราการเกิดสูงและอัตราการตายต่ำทำให้เกิดสภาวะ ”ประชากรล้น” ประเทศ (4) มีการพึ่งพาเกษตรกรรมในระดับพอเพียงแต่เพียงอย่างเดียว (5) มีการใช้แรงงานเด็กมากและเด็กก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโอกาสทางการศึกษาน้อย (6) สถาบันทางการเมืองมีการรวมอำนาจ (7) มีโครงสร้างของชนชั้นแบบกระชับ คือ มีการเคลื่อนย้ายทางสังคมน้อย และ (8) มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการคมนาคมและการขนส่งอยู่ในระดับยังล้าหลัง


ความสำคัญ การด้อยพัฒนาซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เคยได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนหลายล้านคนมานานหลายศตวรรษมาแล้วนี้ ได้ถูกโจมตีจากสังคมดังกล่าวในปัจจุบัน กระบวนการสร้างความทันสมัยเพื่อจะเอาชนะการด้อยพัฒนานั้นจะใช้วิธีเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบการพึ่งพาตนเองได้มาใช้แทนภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ก็จะเกิดสภาวะ ”ช่องว่างของการเก็บกด” ที่มีอันตรายในสังคม กล่าวคือ คนในสังคมจะไม่ยอมรับว่าความยากจนเป็นเรื่องธรรมดาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป ทว่าการขาดแคลนเงินออมและเงินลงทุน การปฏิเสธที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการที่มีประชากรเพิ่มทวีเป็นจำนวนมาก เหล่านี้ล้วนเป็นตัวขวางกั้นมิให้ชาติเหล่านี้ก้าวหน้าต่อไปได้ การให้ความช่วยเหลือเพื่อจะให้สามารถเอาชนะการด้อยพัฒนาที่รัฐพัฒนาแล้วทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออกตลอดจนที่องค์การระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกหยิบยื่นให้นั้นมีความคืบหน้าไปน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดกันในระดับรายหัวของประชากรด้วยแล้ว

Development Agency : International Bank for Reconstruction and Development(IBRD)

องค์การเพื่อการพัฒนา : ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา(ไอบีอาร์ดี)

ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติที่ก่อตั้งโดยข้อตกลงเบรตตันวูดส์ปี ค.ศ. 1944 เพื่อช่วยเหลือชาติต่างๆให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่ประเทศด้อยพัฒนา ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธนาคารโลก มีสมาชิกเมื่อปี ค.ศ. 1987 จำนวน 151 ชาติ มีผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือ ประธานธนาคาร กับมีคณะกรรมการผู้ว่าการคณะหนึ่งที่จะมาประชุมกันทุกปีเพื่อกำหนดนโยบายขั้นพื้นฐาน ส่วนการตัดสินใจให้เงินกู้นั้นจะกระทำโดยคณะกรรมการฝ่ายบริหารที่จะมาประชุมกันทุกเดือนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารโลก โดยการตกลงใจนั้นจะใช้ระบบลงคะแนนเสียงในแบบชั่งน้ำหนัก กล่าวคือ ตามจำนวนหุ้นเงินทุนที่กรรมการแต่ละชาติมีอยู่นั้น เมื่อปี ค.ศ. 1980 เงินทุนของธนาคารโลกมีจำนวนกว่า 3 หมื่นห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่สหรัฐอเมริกาถือหุ้นอยู่กว่าหนึ่งในห้า สต๊อกของหุ้นที่มีอยู่ในธนาคารโลกแยกออกได้เป็น 2 ส่วน คือ (1) เงินประกันเงินกู้ที่ธนาคารสามารถกู้ได้จากแหล่งเงินกู้ภาคเอกชนในตลาดเงินทุนของโลก(90 เปอร์เซ็นต์) และ (2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลของรัฐสมาชิกจ่ายแก่กองทุนเงินกู้(10 เปอร์เซ็นต์) เมื่อได้ก่อตั้งบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(ไอเอฟซี) เมื่อปี ค.ศ. 1956 เพื่อให้มาทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านการลงทุนของภาคเอกชน และก่อตั้งสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ(ไอดีเอ) เป็นองค์การขึ้นตรงต่อธนาคารโลกเมื่อปี ค.ศ. 1960 เพื่อให้ปล่อยเงินกู้ระยะยาวและปลอดภาษี ขึ้นมาแล้วนั้น องค์การปล่อยเงินกู้สาธารณะทั้งสามแห่งนี้ก็ได้ทำงานร่วมกันเป็น กลุ่มธนาคารโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลของรัฐที่เป็นสมาชิกเท่านั้น ภาคเอกชนอาจกู้ได้แต่ต้องให้รัฐสมาชิกค้ำประกัน เงินกู้สำหรับใช้ในโครงการพัฒนาที่สำคัญส่วนใหญ่จะใช้วิธีกู้ที่เรียกว่า คอนโซเตียม ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ให้องค์การปล่อยเงินกู้ต่างๆทั้งในระดับนานาชาติและในระดับชาติร่วมมือกับธนาคารเอกชนให้การสนับสนุนการเงินแก่โครงการต่างๆ

ความสำคัญ บทบาทในระยะเริ่มแรกของธนาคารโลกในการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูดินแดนต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนั้นได้เปลี่ยนไปเมื่อปี ค.ศ. 1949 โดยให้ไปมีบทบาทใหม่เป็นการปล่อยเงินกู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1980 ธนาคารโลกได้ปล่อยเงินกู้จำนวน 1, 700 รายการ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเกือบหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ประเทศหรือดินแดนต่างๆ(ที่ยังไม่เป็นประเทศ) เกือบ 100 แห่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1981-1985 ธนาคารโลกได้ปล่อยเงินกู้มีมูลค่ารวมถึง 53.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลักษณะเงินกู้มีความหลากหลายโดยมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับดอกเบี้ยในตลาดเงินทุนของภาคเอกชน ส่วนระยะเวลาในการจ่ายคืนเงินกู้มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีไปจนถึง 35 ปี เงินที่กู้ไปได้ถูกนำไปใช้ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการชลประทาน โครงการเหมืองแร่ โครงการทางการเกษตร โครงการขนส่งและการคมนาคม และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วไป นอกจากนี้แล้ว ธนาคารโลกก็ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค เพื่อเป็นการเตรียมการเบื้องต้นเอาไว้ก่อนจะได้นำเงินกู้ไปใช้ในทางที่จะเป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้กู้ได้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิผลเมื่อได้รับเงินกู้มาแล้ว ถึงแม้ว่าธนาคารโลกจะเพิ่มทวีปฏิบัติการปล่อยเงินกู้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการทางด้านเงินทุนของประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆได้ทัน อุปสรรคสำคัญ ก็คือ เมื่อรัฐต่างๆกู้เงินไปแล้วไม่สามารถจ่ายเงินคืนในรูปของเงินตราสกุลแข็งได้ เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้มีพันธะทางหนี้หนักมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เงินกู้ใหม่ที่ปล่อยออกไปเป็นเงินกู้ของธนาคารโลกและของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยเป็นการปล่อยเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤติการณ์หนี้สินในกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่ทว่าก่อนจะปล่อยเงินกู้ใหม่ให้นั้นจะมีเงื่อนไขต่างๆ เป็นต้นว่า ประเทศผู้กู้จะต้องเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐโดยทำการปฏิรูปให้เป็นเศรษฐกิจแบบการตลาด และจะต้องดำเนินโครงการประหยัดอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

Development Agency : International Development Association (IDA)

องค์การการพัฒนา : สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ(ไอดีเอ)

องค์การที่ขึ้นอยู่กับธนาคารโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1960 เพื่อให้เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ทำหน้าที่ปล่อย”เงินกู้เงื่อนไขยืดหยุ่น”แก่มวลสมาชิก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1987 สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศมีสมาชิกจำนวน 151 ชาติ และมีเงินทุนบริจาคที่เก็บได้จากสมาชิกกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศจะเป็นสถาบันแยกเป็นเอกเทศหนึ่งต่างหาก แต่การบริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศก็เป็นกลุ่มเดียวกับของธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี) นั่นเอง ทุนดำเนินการของสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศได้มาจากเงินบริจาคของรัฐที่มีเงินทุนมากๆและจากเงินกู้ที่ปล่อยให้สมาคมฯโดยธนาคารโลก ลักษณะเงินกู้ของสมาคมฯจะเป็นประเภท ”เงินกู้ที่มีเงื่อนไขยืดหยุ่น” กล่าวคือ (1) เป็นเงินกู้มูลค่าต่ำ(ไม่มีดอกเบี้ยเพียงแต่คิดค่าบริการรายปีเพียงเล็กน้อย) (2) มีระยะเวลาชำระหนี้ยาวนาน(50 ปี) และ (3) อัตราการชำระหนี้คืนก็ค่อยเป็นค่อยไป(10 ปีแรกยังไม่ต้องชำระหนี้ ช่วงสิบปีต่อมาจ่ายปีละหนึ่งเปอร์เซ็นต์ และช่วง 30 ปีต่อมาจ่ายปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้)

ความสำคัญ สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นมาจากผลของการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธนาคารโลกมีนโยบายปล่อยเงินกู้ในแบบอนุรักษ์นิยม(เหมือนสถาบันการเงินของภาคเอกชนทั่วไป) และจากผลของความวิตกกังวลของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อนโยบายเชิงรุกในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการค้าของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษปี 1950 แนวความคิดต้องการให้มีองค์การที่ขึ้นตรงต่อธนาคารโลกทำการปล่อยเงินกู้ที่มีเงื่อนไขยืดหยุ่นนี้ขึ้นมา ได้มีการถกแถลงกันเป็นครั้งแรกในรัฐสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการเน้นย้ำว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งองค์การเช่นนี้ขึ้นมาให้ได้ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1980 สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศได้ขยายเครดิตเงินกู้มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศและดินแดนต่างๆกว่า 50 แห่ง การให้การสนับสนุนแก่สมาคมฯ ส่วนใหญ่จะได้จากประเทศลูกหนี้ เพราะประเทศลูกหนี้เหล่านี้ถือว่าสมาคมฯเป็นสถาบันปล่อยเงินกู้ที่ดีที่สุดเป็นอันดับสองรองลงมาจากเงินทุนแบบให้เปล่าของสหประชาชาติ ประเทศลูกหนี้เหล่านี้จะสามารถจ่ายเงินกู้คืนให้แก่สมาคมฯ หลังจากระยะปลอดดอกเบี้ยสิบปีแรกผ่านไปได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศเหล่านี้(1)มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงใด และ(2) มีความสามารถในการแสวงหาเงินตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศได้มากน้อยขนาดไหน

Development Agency : International Finance Corporation (IFC)

องค์การเพื่อการพัฒนา: บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอฟซี)

ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1956 บรรษัทการเงินระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมบทบาทของธนาคารโลก (ไอบีอาร์ดี) ในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการปล่อยเงินกู้และการลงทุนโดยตรงให้กับบริษัทเอกชนในประเทศกำลังพัฒนา บรรษัทการเงินระหว่างประเทศมีสมาชิกจำนวน 151 ชาติ(เมื่อปี ค.ศ.1987) และชาติสมาชิกเหล่านี้ได้บริจาคเงินเข้าสต๊อกเงินทุนของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ในสัดส่วนเดียวกับที่ตกลงในธนาคารโลก สำหรับเงินทุนดำเนินการของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดเงินทุนของโลกและได้จากเงินกู้ที่ธนาคารโลกปล่อยให้แก่บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ

ความสำคัญ บรรษัทการเงินระหว่างประเทศได้ปล่อยเงินกู้มีมูลค่าทั้งสิ้นนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่เนื่องจากมีปัญหาทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นมามากจึงทำให้บรรษัทฯไม่สามารถหาเงินทุนมาให้กู้ได้ทันกับความต้องการนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 เป็นต้นมา มีผู้วิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่าบรรษัทฯไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากชาติที่ให้ความช่วยเหลือและจากชาติที่มาขอรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้จะเห็นได้จากบรรษัทฯมีกิจกรรมไม่มากทั้งทางด้านการจัดหาเงินทุนและการให้กู้ยืม ส่วนวัตถุประสงค์ของบรรษัทฯเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามาดำเนินการทางเศรษฐกิจในรัฐที่กำลังพัฒนานั้นก็ไม่บรรลุตามเป้าเนื่องจากประสบกับอุปสรรคในการรวมตัวระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชน

Development Agency : Multinational Corporations

องค์การเพื่อการพัฒนา : บรรษัทหลายชนชาติ

องค์การทางธุรกิจที่มีฐานแม่ข่ายอยู่ที่ประเทศหนึ่งแต่ดำเนินกิจการผ่านทางลูกข่ายที่ไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง บรรษัทหลายชนชาติซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บรรษัทข้ามชาติ นี้จะขยายกิจการไปเรื่อย โดยชิงความได้เปรียบจาก”การประหยัดจากขนาดการผลิต”(กล่าวคือ ลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้จากผลของการเจริญเติบโตและการเพิ่มระดับของการผลิต) ในบางครั้งบริษัทหลายชนชาติจะได้เปรียบในแง่ที่ว่าในตลาดจะมีผู้ขายน้อยรายหรือเป็นตลาดแบบกึ่งผูกขาด

ความสำคัญ บรรษัทหลายชนชาติได้ไปเปิดกิจการอยู่ในประเทศต่างๆในกลุ่มโลกที่สาม ภายใต้สภาวะที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน คือ เป็นที่ซึ่งความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมมีมากกว่าความต้องการโภคภัณฑ์ขั้นปฐม และเป็นที่ซึ่งธุรกิจขนาดยักษ์หลายแห่งสามารถกำหนดราคาสินค้าและควบคุมตลาดได้ ประเทศในกลุ่มโลกที่สามได้พยายามจะเข้าควบคุมบทบาทที่เพิ่มขึ้นมามากของบรรษัทหลายชนชาติเหล่านี้ จึงได้ช่วยกันผลักดันในสหประชาชาตินับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 เพื่อให้มี “จรรยาบรรณระหว่างประเทศสำหรับบรรษัทข้ามชาติ” ความต้องการให้มีจรรยาบรรณนี้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปี ค.ศ. 1984 อันเป็นปีที่คนเกือบ 2,000 คนได้เสียชีวิตที่เมืองโภปาลประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผลมาจากแก๊สเกิดการรั่วไหลในโรงงานของบริษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกาชื่อ ยูเนียน คาร์ไบน์ สาระสำคัญของจรรยาบรรณฉบับนี้กล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้ คือ (1) พฤติกรรมทั่วไปของบรรษัทหลายชนชาติ (2) ความปลอดภัยของคนงาน (3) กรรมสิทธิ์และการควบคุม (4) การเก็บภาษี (5) การตั้งราคาโอน และ (6) ผลกระทบจากการปฏิบัติการของบรรษัทหลายชนชาติต่อดุลการชำระเงินของประเทศเจ้าบ้าน ถึงแม้ว่าชาติตะวันตกจะมีส่วนร่วมในการยกร่างจรรยาบรรณดังกล่าวแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ให้มีการจำกัดกิจกรรมของบรรษัทหลายชนชาติในเศรษฐกิจของโลก บรรษัทหลายชนชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะเข้าไปแทรกแซงในกิจกรรมทางการเมืองของประเทศในกลุ่มโลกที่สาม แต่ที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือ บรรษัทหลายชนชาติบางแห่งได้ตกเป็นเครื่องมือในการทำการล้มล้างระบอบการปกครองที่ตนไม่ชอบหรือระบอบการปกครองของฝ่ายซ้าย หรือไม่เช่นนั้นก็ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่เป็นมิตรกับตนอย่างเต็มที่

Development Agency : Regional Banks

องค์การเพื่อการพัฒนา : ธนาคารในระดับภูมิภาค

สถาบันให้กู้ยืมเงินที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยภาครัฐบาลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและในระดับอนุภูมิภาค ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาคมีการก่อตั้งขึ้นมาในยุโรป ละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ธนาคารเช่นนี้ในยุโรป คือ ธนาคารลงทุนยุโรป ซึ่งเริ่มปฏิบัติงานเมื่อปี ค.ศ.1958 เป็นสถาบันของรัฐต่างๆที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลักเซมเบิร์กประเทศราชรัฐลักเซมเบิร์ก มีทุนแรกเริ่ม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทวีปอเมริกามีธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา ซึ่งได้เปิดดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 1960 มีสมาชิกประกอบด้วยสาธารณรัฐต่างๆรวม 21 สาธารณรัฐ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ธนาคารมีเงินทุน 3.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทวีปแอฟริกามีธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1965 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงอาบิดจานประเทศไอเวอรีโคสต์ มีสมาชิกประกอบด้วยประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกา และมีเงินทุน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อจะหาเงินทุนมาเสริมเงินทุนที่ได้จากเหล่าสมาชิกในทวีปแอฟริกาที่มีจำนวนไม่มากนั้น ก็จึงได้ดำเนินการการจัดตั้ง กองทุนเพื่อการพัฒนาแอฟริกา เมื่อปี ค.ศ. 1972 เพื่อส่งเสริมให้มีการบริจาคทุนจากประเทศที่มีเงินทุนเหลือเฟือภายนอกภูมิภาค ในทางทวีปเอเชียก็มี ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1967 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มีทุนเริ่มแรก 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สมาชิกของธนาคารระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแห่งนี้ นอกจากจะมีชาติในภูมิภาคนี้โดยตรงแล้วก็ยังมีชาตินอกภูมิภาคด้วย กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์

ความสำคัญ การก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นเพราะผลของการขยายตัวของปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการระดมทรัพยากรทุนที่ขาดแคลนเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหานี้ โครงการความช่วยเหลือต่างๆทั้งแบบทวิภาคีและแบบพหุภาคีมักมุ่งให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและให้ความช่วยเหลือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะให้ความช่วยเหลือเงินทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมมีส่วนน้อย หน้าที่หลักของธนาคารในภูมิภาคเหล่านี้ ก็คือ เข้าไปเติมเต็มความต้องการส่วนที่ขาดหายไปนี้ สมาชิกของธนาคารในระดับภูมิภาคต่างๆจะไม่มีลักษณะเป็นแบบเดียวกัน คือ ธนาคารเพื่อการพัฒนายุโรปมีสมาชิกประกอบด้วยรัฐที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมทั้งหมด ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกาก่อตั้งขึ้นมาโดยประเทศด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกาทั้งหมด ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างรัฐอเมริกา มีสมาชิกที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมในระดับสูงมากเพียงชาติเดียว(คือ สหรัฐอเมริกา) ส่วนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย มีสมาชิกแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทหนึ่ง ได้แก่ ชาติที่พัฒนาแล้ว ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ชาติที่ด้อยพัฒนา เงินทุนที่นำมาสนับสนุนธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาคได้มาจากทั้งภาครัฐบาลและจากการขายพันธบัตรภาครัฐบาล ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในระดับทั่วโลกที่จะแก้ปัญหานี้ โดยวิธีก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศเฉพาะกิจต่างๆ ประสิทธิผลของธนาคารเหล่านี้ที่จะช่วยให้เกิดความทันสมัยและการสร้างชาติในประเทศด้อยพัฒนายังคงได้รับการทดสอบในช่วงทศวรรษปี 1990

Development Agency : United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD)

องค์การเพื่อการพัฒนา : การประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด)

องค์กรหนึ่งของสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนานโยบายการค้าโลก อังค์ถัดเริ่มก่อกำเนิดเมื่อคราวมีการประชุมการค้าพิเศษที่รัฐต่างๆจำนวน 122 รัฐเข้าร่วมประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1964 และสมัชชาใหญ่ได้กำหนดให้อังค์ถัดมีสถานภาพถาวรในปีเดียวกันนี้เอง รัฐด้อยพัฒนาทั้งหลายได้ช่วยกันผลักดันให้มีการก่อตั้งอังค์ถัดขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นที่ประชุมที่พวกตนสามารถใช้กดดันรัฐที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมให้ลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆให้พวกตนสามารถขายสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ขั้นปฐมของพวกตนได้ วัตถุประสงค์หลักของประเทศด้อยพัฒนาที่กระทำเช่นนี้ก็เพื่อจะเพิ่มพูนรายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปใช้สนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ ปัจจุบันอังค์ถัดมีสมาชิกเกือบ 160 ชาติ มีการประชุมเต็มคณะในทุก 3-4 ปีเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานนโยบายการค้าและการพัฒนาระหว่างกัน ในการจัดองค์กรภายในมีคณะกรรมการการค้าและการพัฒนาทำหน้าที่ริเริ่มข้อเสนอนโยบายในระหว่างสมัยการประชุมของอังค์ถัด และมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ความสำคัญ ที่สามารถจัดตั้งการประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้สำเร็จครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นชัยชนะทางด้านการเมืองแต่ยังไม่ใช่เป็นชัยชนะทางด้านเศรษฐกิจสำหรับรัฐด้อยพัฒนาทั้งหลาย ในความพยายามที่จะแสวงหาเงินทุนโดยการเพิ่มพูนการค้านี้ ข้างฝ่ายรัฐที่เจริญทางอุตสาหกรรมก็ได้ต่อต้านการจัดตั้งอังค์ถัดนี้โดยบอกว่าบทบาทของอังค์ถัดจะไปเหมือนกับบทบาทของแกตต์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม “แกนนำจี –77” เมื่อปี 1964 แต่กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาจะมีชัยชนะทางด้านเศรษฐกิจได้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐที่พัฒนาแล้วจะตกลงตามวัตถุประสงค์ของอังค์ถัดที่ให้มีการสร้างเสถียรภาพในราคาสินค้าประเภทโภคภัณฑ์และขยายหลักปฏิบัติว่าด้วยชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งให้แก่รัฐพัฒนาโดยไม่ขอสิ่งใดเป็นการตอบแทนได้หรือไม่ เมื่อเร็วๆนี้ประเทศในกลุ่มโลกที่สามได้ดำเนินการรณรงค์อย่างแข็งขันในที่ประชุมของอังค์ถัดเพื่อให้มีการก่อตั้ง ระเบียบทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่(เอ็นไออีโอ) ให้มาทำหน้าที่จัดสรรความมั่งคั่งของโลกเสียใหม่

Development Agency : United Nations Industrial Development Organization(UNIDO)

องค์การเพื่อการพัฒนา:องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูนิโด)

องค์การที่จัดตั้งโดยสมัชชาใหญ่ ”เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และเร่งรัดการอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยให้เน้นย้ำเป็นการเฉพาะในภาคการผลิต” ยูนิโดเริ่มปฏิบัติงานเป็นองค์การ ”อิสระ” ในสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1967 โดยมีหน้าที่รับผิดชอบ คือ ช่วยกระตุ้น ช่วยประสานความร่วมมือ และช่วยเร่งเร้าความพยายามของสหประชาชาติในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม (ในองค์กรภายในของยูนิโด)มีคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของยูนิโด และทำหน้าที่พัฒนาหลักการและนโยบายเครื่องชี้นำโครงการต่างๆ นอกจากนี้แล้วคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ยังมีหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ดำเนินการจัดตั้งองค์กรย่อยๆขึ้นมาเมื่อมีความจำเป็น และมีหน้าที่ทำรายงานประจำปีเสนอต่อสมัชชาใหญ่ สำนักเลขาธิการของยูนิโดตั้งอยู่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ความสำคัญ การจัดตั้งองค์การการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติขึ้นมานี้ เป็นผลพวงมาจากการเน้นย้ำของรัฐกำลังพัฒนาว่าจะต้องทำการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมให้ได้ และก็เป็นผลมาจากการที่รัฐด้อยพัฒนาสามารถคุมเสียงส่วนใหญ่ในสมัชชาใหญ่ได้อีกด้วย ที่รัฐด้อยพัฒนาเน้นย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นแนวทางดีที่สุดที่จะนำพาไปสู่ความทันสมัยได้นั้นไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐที่พัฒนาแล้ว เพราะรัฐที่พัฒนาแล้วเห็นว่าจะทำให้ฝ่ายพวกตนต้องแข่งขันสินค้าต้นทุนต่ำกับประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งจะทำให้ตนต้องสูญเสียตลาดและสูญเสียโอกาสในการลงทุนไป นอกจากนั้นแล้วรัฐต่างๆในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ก็ยังมีที่นั่งส่วนใหญ่อยู่ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งก็ได้ใช้ข้อได้เปรียบนี้ทำการกดดันสมาชิกของรัฐที่เจริญแล้วให้มาช่วยเหลือฝ่ายตนบรรลุถึงการพัฒนาทางอุตสาหกรรมได้ ยูนิโดได้จัดให้มีการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและได้ดำเนินโครงการให้บริการทางด้านอุตสาหกรรมพิเศษ(เอสไอเอส) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคอุตสาหกรรมภาคปฏิบัติแก่มวลสมาชิกที่ร้องขอความช่วยเหลือมา ตัวอย่างของโครงการที่ยูนิโดให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ โรงงานม้วนเล็กกล้าที่ประเทศจอร์แดน โรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ประเทศซูดาน และโรงงานผลิตวัตถุดิบจากชานอ้อยที่ประเทศตรินิแดด เป็นต้น

Development Agency : United Nations Institute for Training and Research(UNITAR)

องค์การเพื่อการพัฒนา : สถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ(ยูนิทาร์)

องค์การอิสระที่จัดตั้งโดยสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1963 เพื่อทำการฝึกอบรมบุคลากรที่จะไปทำงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค โครงการต่างๆของยูนิทาร์ ได้แก่ (1) โครงการจัดหาทุนแก่บุคลากรจากประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มพูนทักษะเพื่อนำไปใช้ทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ (2) โครงการจัดหาผู้เชี่ยวชาญส่งไปสอนหลักสูตรพิเศษต่างๆตามวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในรัฐที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ และ (3) โครงการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับเนื้อหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นต้น องค์กรบริหารภายในของสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย คณะกรรมการทรัสตีทำหน้าที่ในฐานะส่วนตัวยิ่งกว่าจะทำในฐานะตัวแทนของรัฐ คณะกรรมการทรัสตีได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการสหประชาชาติ โดยปรึกษาหารือกับประธานสมัชชาใหญ่ และประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญ สถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ ได้พยายามทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างสหประชาชาติกับประชาคมนักวิชาการระหว่างประเทศ โครงการที่โดดเด่นมากของยูนิทาร์ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมเยาวชนจากเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เพื่อเตรียมตัวไปประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ที่อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการของยูนิทาร์ประกอบด้วยนักปราชญ์ และรัฐบุรุษที่โด่งดังไปทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการทางวิชาการที่มีความหลากหลาย ส่วนในด้านการวิจัยนั้นก็ได้มี(1) โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถและวิธีปฏิบัติของสหประชาชาติ (2) โครงการพัฒนาและการสร้างความทันสมัย และ(3) โครงการคมนาคมและสารสนเทศ

Development Strategy : Colombo Plan

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : แผนโคลัมโบ

โครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหากลไกการปรึกษาหารือในแบบพหุภาคีและทวิภาคีในหมู่สมาชิก แผนโคลัมโบก่อตั้งขึ้นมาในที่ประชุมของหมู่รัฐเครือจักรภพอังกฤษที่กรุงโคลัมโบ ประเทศซีลอน(ศรีลังกาในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 1950 แผนโคลัมโบได้จัดทำแผนเริ่มแรกเป็นแผนระยะเวลา 5 ปี ใช้เงินทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทุนจำนวนนี้ได้มาจากรัฐที่พัฒนาแล้วและรัฐที่กำลังพัฒนาในจำนวนที่เท่ากัน มีรัฐต่างๆเข้าร่วมในโครงการกว่า 25 รัฐ เช่น ประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ(ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา, ซีลอน,อินเดีย, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน และสิงคโปร์) ประเทศและดินแดนในอารักขาในเอเชียอื่นๆ(ภูฏาน, เกาะบอร์เนียวของอังกฤษ,พม่า,กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลาว,เนปาล,ฟิลิปปินส์, เวียดนามใต้ และไทย) และสหรัฐอเมริกา ในการบริหารแผนโคลัมโบนั้นมีคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของรัฐที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จะประชุมกันทุกปีเพื่อพิจารณาทบทวนโครงการเก่า วางแผนโครงการใหม่ และถกแถลงปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคณะมนตรีเพื่อความร่วมมือทางเทคนิค ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการ ณ สำนักงานใหญ่ของแผนโคลัมโบที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคระหว่างหมู่ชาติสมาชิก

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าแผนโคลัมโบจะเริ่มต้นขึ้นมาด้วยการเป็นแค่โครงการของกลุ่มประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ แต่ก็ได้รวมเอาประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ และมีประเทศต่างๆที่มิได้มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ในเอเชียเป็นประเทศรับความช่วยเหลือ แต่ด้วยเหตุที่การบริหารโครงการให้ความช่วยเหลือทุกโครงการมีลักษณะเป็นแบบทวิภาคี เพราะฉะนั้นรัฐผู้บริจาคแต่ละรัฐจึงได้เข้าไปควบคุมขนาดและลักษณะของเงินบริจาคของตนอย่างเต็มที่ แต่กระนั้นก็ดีก็ยังมีคณะกรรมการที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็นที่ประชุมซึ่งประเทศกำลังพัฒนาสามารถเสนอความต้องการโครงการที่ใหญ่ขึ้นหรือที่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นได้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา แผนโคลัมโบได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินกู้และเงินให้เปล่ามูลค่ากว่า 2 หมื่นห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ชาติต่างๆในเอเชีย เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนา และมีบุคลากรหลายพันคนได้รับการฝึกอบรมทางด้านเทคนิค

Development Strategy : Dependency Theory

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิง

คำอธิบายในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงการเมืองเกี่ยวกับกระบวนการในทางประวัติศาสตร์และในปัจจุบันที่บ่งบอกถึงการเกิดการด้อยพัฒนาและการขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้ให้ความสนใจในสัมพันธภาพด้านจักรวรรดินิยม/ลัทธิล่าอาณานิคม ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา กับพื้นที่ต่างๆในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาที่ตกอยู่ในความครอบงำของประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้น ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้เกิดจากแนวความคิดของนักปราชญ์ชาวละตินอเมริกาหลายคน เช่น เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ, ธีโอโตนีโอ ดอส ซานโตส, และ รุย เอ็ม. มารินี ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้พยายามอธิบายถึงสัมพันธภาพการพึ่งพิงในปัจจุบันระหว่างรัฐในละตินอเมริกากับรัฐทุนนิยมที่พัฒนาอุตสาหกรรมแล้วในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้แล้วก็ยังมีปราชญ์คนอื่นๆ เช่น ซามีร์ อามิน, คลิฟ โธมัส, และวอลเตอร์ ร้อดนี ได้นำทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้ไปใช้อธิบายพื้นที่อื่นๆของโลกด้วย นักปราชญ์เหล่านี้มีความเห็นว่า ระบบการค้าของโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางที่จะทำให้รัฐที่กำลังพัฒนาตกอยู่ในสภาวะถูกจองจำทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพแบบจักวรรดินิยมแบบใหม่และการล่าอาณานิคมแบบใหม่ขึ้นมาระหว่างประเทศที่มีฐานะร่ำรวยกับประเทศที่มีฐานะยากจน

ความสำคัญ นักปราชญ์และบุคคลอื่นๆต่างใช้ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้อธิบายถึงภาวะชะงักงันในการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่ประเทศกลุ่มโลกที่สาม ในทัศนะของพวกนักทฤษฎีสภาวะการพึ่งพิงเห็นว่า ชีวิตทางเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนาถูกครอบงำโดยการเอารัดเอาเปรียบของรัฐนายทุนที่มีอำนาจจากภายนอกกลุ่มโลกที่สาม ทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงนี้จะถูกผิดอย่างไรไม่มีใครทราบได้ แต่ที่แน่ๆก็คือ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการสนับสนุนจากนักปราชญ์และผู้นำประเทศในโลกที่สาม ซึ่งเห็นว่าเป็นเหตุผลสำคัญทำให้หลายรัฐในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาไม่สามารถสร้างความคืบหน้าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้แล้วพวกนักทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงก็ยังมีความเห็นด้วยว่า บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างก็ได้เข้าควบคุมเศรษฐกิจของกลุ่มโลกที่สาม และได้ให้การสนับสนุนแก่บรรดาผู้นำทางการเมืองของประเทศเหล่านี้อีกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมในหลายรัฐที่กำลังพัฒนาเพราะผลของการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ แต่ก็มีการจำกัดอยู่เฉพาะในตัวเมือง ส่วนพื้นที่ในชนบทของประเทศต่างๆเหล่านี้ยังตกอยู่ในสภาพยากจนค่นแค้นอยู่ต่อไป ผู้ให้การสนับสนุนทฤษฎีสภาวะต้องพึ่งพิงหลายคนมีความเห็นว่า สภาวะแห่งลัทธิจักรวรรดินิยมและแห่งลัทธิล่าอาณานิคมเหล่านี้จะต้องถูกทำลายไปเสีย แล้วนำเอาระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างใหม่มาใช้แทน ก็จะยุติสถานภาพการที่ต้องพึ่งพิงของรัฐต่างๆในกลุ่มโลกที่สามนี้ได้

Development Strategy : Foreign Aid

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ความช่วยเหลือต่างประเทศ

ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการทหารที่รัฐบาลหนึ่งหรือองค์การระหว่างประเทศหนึ่งจัดหาให้แก่อีกประเทศหนึ่ง ความช่วยเหลือต่างประเทศจะเสนอให้ในแบบทวิภาคี โดยองค์การในระดับภูมิภาค หรือโดยองค์การในระดับโลกภายใต้ระบบสหประชาชาติ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแยกประเภทได้ดังนี้ (1)การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (2) การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแบบให้เปล่า (3) การให้เงินกู้เพื่อการพัฒนา (4) การส่งอาหารที่ล้นสต๊อกไปให้ (5) การให้ค้ำประกันสำหรับการลงทุนของภาคเอกชน และ(6) การให้เครดิตทางการค้า ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร จะเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ (1) การส่งมอบครุภัณฑ์ทางทหาร (2) การส่งคณะที่ปรึกษาไปประจำอยู่ (3) การให้การสนับสนุนด้านกลาโหม(หมายถึง ให้เงินสนับสนุนโครงการพลเรือนเท่ากับจำนวนเงินที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือใช้จ่ายไปในด้านการป้องกันประเทศตน) และ(4) การให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายแก่กองกำลังทหารมิตรประเทศ สำหรับวัตถุประสงค์ของความช่วยเหลือต่างประเทศมีดังนี้ คือ (1) ให้การสนับสนุนพันธมิตร (2) ช่วยบูรณะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม (3) ให้การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (4) ต้องการได้การสนับสนุนทางอุดมการณ์ (5) ต้องการได้วัสดุทางยุทธศาสตร์ และ (6) ต้องการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจหรือจากภัยธรรมชาติ โครงการให้ความช่วยเหลือในแบบทวิภาคีทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร ดำเนินการโดยรัฐต่างๆต่อไปนี้ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต จีนคอมมิวนิสต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และอังกฤษ ส่วนโครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ได้แก่ โครงการที่ดำเนินการโดย พันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า แผนโคลัมโบ กองทุนเพื่อพัฒนายุโรปของอีอีซี องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ธนาคารพัฒนาแอฟริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารพัฒนาระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา สำหรับโครงการในระดับโลกภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี ไอเอฟซี และไอดีเอ) ตลอดจนทบวงการชำนัญพิเศษอื่นๆ การประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด) และองค์กรอิสระพิเศษต่างๆ เช่น องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ และสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ

ความสำคัญ โครงการความช่วยเหลือต่างประเทศที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในครั้งแรก คือ โครงการที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่พันธมิตรในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นสี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐยังคงคาราคาซังกันอยู่ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็มีโครงการเลนด์-ลีสที่ดำเนินการโดยฝ่ายพันธมิตร เป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจแก่กันและกัน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้มีการพัฒนาโครงการความช่วยเหลือของสหรัฐฯหลายโครงการ เช่น แผนมาร์แชล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบูรณะยุโรปตะวันตก หลักนิยมทรูแมน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการทหารและทางเศรษฐกิจแก่รัฐที่ถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม และแผนความมั่นคงร่วมกันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการป้องกันขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในยุโรปตะวันตก สำหรับความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาต่างๆนั้น เริ่มต้นด้วยโครงการพ้อยท์โฟว์ อันเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในปี ค.ศ. 1949 และโครงการนี้ได้ขยายให้ครอบคลุมไปถึงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าและแบบเป็นเงินกู้ กับการช่วยเหลือทางด้านการทหารระหว่างทศวรรษปี 1950 ถึงทศวรรษปี 1960 ส่วนโครงการให้ความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียตสำหรับประเทศด้อยพัฒนานั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางทศวรรษปี 1950 ในรูปแบบของการให้เครดิตเพื่อส่งเสริมการค้าแบบทวิภาคี ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆในทางตะวันตกและทางตะวันออกตลอดจนญี่ปุ่น ก็ได้จัดตั้งโครงการความช่วยเหลือที่สำคัญแก่รัฐที่กำลังพัฒนาในทศวรรษปี 1960 ชาติต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือจะดำเนินการผ่านทางช่องทางในแบบทวิภาคี ผ่านทางองค์การในระดับภูมิภาคและองค์การในระดับโลก แต่การตัดสินใจที่สำคัญๆเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยฝ่ายเดียวของรัฐผู้บริจาค ประเทศผู้บริจาคส่วนใหญ่จะนิยมให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะมีความเชื่อว่า ทุนที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมนั้นควรจะเอาจากแหล่งเงินทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ จากบริษัทข้ามชาติต่างๆ อย่างไรก็ดีประเทศผู้รับความช่วยเหลืออยากได้ความช่วยเหลือในรูปของเงินทุนที่อาจออกมาในรูปการให้เปล่าหรือให้กู้ในระยะยาวโดยเสียดอกเบี้ยต่ำก็ได้ เพราะว่าต้องการจะควบคุมโครงการพัฒนาและอนาคตทางเศรษฐกิจของชาติด้วยตนเอง เงินที่นำมาใช้สนับสนุนโครงการพัฒนาทุนเป็นการเฉพาะของชาติตะวันตกนี้ได้มาในรูปของเงินกู้ที่ออกให้กู้โดยกลุ่มธนาคารโลก หรือออกให้กู้โดยธนาคารพัฒนาแอฟริกา ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือธนาคารพัฒนาระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบทวิภาคีนั้นจะตกลงใจให้ความช่วยเหลือโดยยึดหลักองค์ประกอบทางการเมืองและความมั่นคงเป็นสำคัญยิ่งกว่าจะได้คำนึงถึงความจำเป็นของประเทศผู้รับความช่วยเหลือ ดังมีตัวอย่างในทศวรรษปี 1980 ความช่วยเหลือของสหรัฐฯส่วนใหญ่จัดให้แก่ประเทศต่างๆเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น อิสราเอล และอียิปต์ เป็นต้น ส่วนที่เหลือจึงค่อยเฉลี่ยให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนมากกว่าร้อยประเทศ

Development Strategy : Group of Seventy-Seven (G-77)

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : กลุ่ม77(จี-77)

กลุ่มแกนนำของโลกที่สาม ที่ทำงานอย่างแข็งขันในประเด็นทางเศรษฐกิจในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติและในการประชุมนานาชาติ กลุ่ม 77 เริ่มทำงานในกระบวนการตัดสินใจในระดับโลกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 ในที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังค์ถัด) โดยมีสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 77 ชาติจากเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เมื่อถึงปลายทศวรรษปี 1980 กลุ่ม 77 มีสมาชิกเกือบ 130 ชาติทั้งนี้รวมทั้งผู้แทนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ตองกา และองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์(พีแอลโอ) ทั้งที่ทั้ง 4 ชาตินี้ตอนนั้นยังมิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติแต่อย่างใด จุดมุ่งหมายของกลุ่ม 77 คือ การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและทางการค้าในระดับโลกร่วมกัน กลุ่มแกนนำขนาดใหญ่มากอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(นาม) ได้ให้การสนับสนุนความพยายามของกลุ่ม 77 โดยได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำด้วยเหมือนกัน แต่เป็นในด้านการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม สิทธิมนุษยชน และในเรื่องในระดับภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งยังมีบทบาทในการกดดันมหาอำนาจให้ยอมบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบ

ความสำคัญ กลุ่ม 77 มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาและในการกดดันประเทศอุตสาหกรรมให้มา (1) ให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ (2)ให้ความร่วมมือทางเทคนิค (3) ให้จัดเงื่อนไขทางการค้าให้ดีขึ้น และ (4) ในเรื่องผลประโยชน์อื่นๆเกี่ยวกับกลุ่มโลกที่สาม อย่างไรก็ดีการได้รับชัยชนะสามารถคุมเสียงข้างมากในสมัชชาใหญ่ได้มิได้สร้างเงื่อนไขที่ดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้า การพัฒนา และการสร้างความทันสมัยขึ้นมาได้เสมอไป เมื่อเป็นเช่นนี้ผลก็คือ ได้เกิดเป็นแนวโน้มขึ้นมาสำหรับกลุ่มประเทศโลกที่สามที่จะเจรจาทำความตกลงในแบบสมานฉันท์กับหมู่ประเทศอุตสาหกรรม ในบางเรื่องกลุ่ม 77 ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเนื่องจากเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกลุ่มเอง ดังมีตัวอย่างในการเจรจาสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล กลุ่มประเทศในโลกที่สามได้แตกออกเป็นกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพราะแต่ละกลุ่มมีจุดยืนที่ขัดแย้งกันอันเป็นผลสืบเนื่องจากว่า บางรัฐเป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนชายฝั่ง บางรัฐเป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนเกาะ บางรัฐไม่มีทางออกทะเล บางรัฐเป็นรัฐผู้ส่งออกแร่ธาตุที่พบในท้องมหาสมุทร ส่วนบางรัฐเป็นรัฐผู้นำเข้าแร่ธาตุที่พบในท้องมหาสมุทร อย่างนี้เป็นต้น แต่เมื่อว่าโดยภาพรวมแล้ว กลุ่มจี 77ได้ทำหน้าที่ในหลายเรื่องอย่างองค์กรที่ไม่เป็นทางการ แต่ก็สามารถทำการตกลงใจอย่างมีประสิทธิผลมากในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

Development Strategy : New International Economic Order(NIEO)

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ (เอ็นไออีโอ)

การรณรงค์ครั้งสำคัญในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติและในการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด) โดยประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย(แอนดีจี) เพื่อขจัดระบบเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่ในปัจจุบันออกไปแล้วนำเอาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เอื้อต่อผลประโยชน์แก่ประเทศยากจนมาใช้แทน ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่นี้ได้มีการประกาศเป็นครั้งแรกในสมัยประชุมพิเศษครั้งที่ 16 ของสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1974 ซึ่งในครั้งนั้นสมัชชาใหญ่ได้ยอมรับปฏิญญาว่าด้วยการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ ต่อมาในปีเดียวกันนั้นสมัชชาใหญ่ได้สานต่อปฏิญญาดังกล่าวด้วยการให้ความเห็นชอบในกฎบัตรว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ทางเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติที่จำเป็นนำมาใช้ในการดำเนินระเบียบระหว่างประเทศใหม่ เรื่องการจัดตั้งระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่นี้ ซึ่งเป็นเกมการเมืองของกลุ่ม 77(จี-77) (กลุ่มแกนนำประกอบด้วยประเทศด้อยพัฒนาจำนวน 120 ชาติที่ประชุมกันก่อนจะถึงสมัยประชุมเป็นทางการของสมัชชาใหญ่เพื่อตัดสินใจว่าจะยึดแนวทางปฏิบัติใด) ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่มีฐานะร่ำรวยของโลกที่หนึ่ง กับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีฐานะยากจนแต่มีจำนวนมากในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา

ความสำคัญ มูลเหตุจูงใจที่จะให้มีการจัดตั้งระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ขึ้นมานี้ ว่าที่จริงแล้ว ก็คือ ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาที่จะให้มีการก่อตั้งระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเสียใหม่ กับให้มีการดำเนินการจัดสรรความมั่งคั่งของโลกเสียใหม่ด้วย จากมุมมองของกลุ่มประเทศโลกที่สามเห็นว่า เศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่กำลังพัฒนาและมีฐานะยากจน ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงเกิดความเก็บกดและมุมานะที่จะพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้แก่ตนเอง ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้มีความเชื่อว่า ที่ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมและผลิตภัณฑ์อื่นๆของตนมีราคาตกต่ำในตลาดการค้าของโลกมาเป็นเวลาหลายปีนั้นก็เพราะผลของลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่นี้เป็นเกมทางการเมืองอย่างหนึ่งของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเกมการเมืองที่ประสบความล้มเหลว ก่อนหน้านี้ประเทศด้อยพัฒนาก็ได้เคยพยายามแสวงหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนามาแล้ว คือ (1) ได้ยื่นเสนอให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติพิเศษ(เอสยูเอ็นเอฟอีดี) (2) กองทุนการพัฒนาเงินทุนแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นซีดีเอฟ) (3) การประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด) (4) การก่อตั้งสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ(ไอดีเอ) และ(5) ความพยายามที่จะใช้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา ในความพยายามที่จะหาเงินทุนมาใช้พัฒนาประเทศนั้น ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายมีความต้องการดังนี้ (1)ต้องการให้ประเทศร่ำรวยเพิ่มความช่วยเหลือต่างประเทศแก่ชาติยากจนมากยิ่งขึ้น (2) ต้องการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวยสู่ประเทศยากจนให้มากยิ่งขึ้น (3) ต้องการให้ประเทศยากจนมีส่วนในการมีอำนาจตกลงใจในสถาบันทางเศรษฐกิจในระดับโลกมากยิ่งขึ้น(เช่น ในธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) (4) ต้องการให้ราคาวัตถุดิบของประเทศยากจนมีราคาสูงขึ้นและราคามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และ (5) ต้องการให้ประเทศยากจนมีโอกาสส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาดของประเทศพัฒนาและร่ำรวยแล้วมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามของชาติยากจนที่ต้องการจะขายแนวความคิดในการจัดตั้งระเบียบระหว่างประเทศใหม่นี้ให้แก่ประเทศร่ำรวยในรูปแบบที่เหมือนกับการประกาศสงครามระหว่างกัน ข้างฝ่ายประเทศที่พัฒนาแล้วโดยการนำของสหรัฐอเมริกาก็ได้ใช้วิธีปฏิเสธข้อเสนอนั้นบ้าง ให้ข้อเสนอนั้นคาราคาซังอยู่อย่างนั้นบ้าง ที่ต้องกระทำอย่างนี้ก็เพราะว่า ระเบียบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อประเทศอุตสาหกรรมนั่นเอง ผลพวงที่เกิดจากความพยายามในระหว่างทศวรรษปี 1970 ถึงทศวรรษปี 1980 ที่จะให้มีการจัดตั้งระเบียบใหม่ในเศรษฐกิจของโลกนี้ ก็คือ ได้มีการยอมรับให้สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการจัดหา”ที่ประชุม”ส่วนกลางไว้สำหรับการอภิปรายและถกแถลงเรื่องราวที่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจต่างๆ ประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศซึ่งเกิดความเก็บกดจากความพยายามแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลก ก็ได้เริ่มใช้วิธีให้มีการปรับปรุงเศรษฐกิจโลกโดยใช้แบบอย่างของ องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม(โอเปก) และนโยบายรวมตัวผูกขาดทางธุรกิจขององค์การนี้ โดยเห็นว่าเป็นแนวทางเหมาะสมที่จะใช้ต้านทานพลังความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งได้

Development Strategy : Technical Assistance

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา : ความช่วยเหลือทางเทคนิค

การสอนทักษะทางเทคนิคใหม่ๆให้ โครงการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศทางเทคนิคนี้รัฐที่เจริญแล้วจะเสนอให้รัฐด้อยพัฒนาเพื่อช่วยให้ก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายแห่งการสร้างความทันสมัย การถ่ายทอดทักษะที่มีตั้งแต่ระดับที่ง่ายๆไปถึงระดับที่ซับซ้อนมากๆและที่มีตั้งแต่ทักษะการเกษตรแบบพื้นๆไปจนถึงปฏิบัติการและบำรุงรักษาโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ล้วนแต่อยู่ในขอบข่ายของความช่วยเหลือทางเทคนิคนี้ทั้งสิ้น โครงการความช่วยเหลือทางเทคนิคจะให้การพัฒนาทักษะทางด้านการอุตสาหกรรม การจัดการ การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การเหมืองแร่ และการบริหาร

ความสำคัญ การถ่ายทอดทักษะทางเทคนิคต่างๆสู่ผู้คนในดินแดนด้อยพัฒนาของโลก ได้เริ่มกระทำในระดับย่อยๆในช่วงยุคล่าอาณานิคม โดยพวกสอนศาสนา บริษัทดำเนินการทางธุรกิจของเจ้าอาณานิคม และองค์การการกุศลต่างๆ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โครงการใหญ่ๆดำเนินการผ่านทางความช่วยเหลือในแบบทวิภาคีโดยองค์การในระดับภูมิภาคก็มี โดยสหประชาชาติก็มี ในส่วนของสหประชาชาตินั้น ความช่วยเหลือทางเทคนิคจะเสนอให้ผ่านทางโครงการขยายความช่วยเหลือทางเทคนิค(เอฟตา) และกองทุนพิเศษของโครงการนี้ ต่อมาโครงการทั้งสองนี้ได้รวมกันเข้าเป็นโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) เมื่อปี ค.ศ. 1965 ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ส่วนโครงการในระดับภูมิภาคที่ให้การฝึกอบรมในทักษะสมัยใหม่ ได้แก่ พันธมิตรเพื่อความก้าวหน้า แผนโคลัมโบ กองทุนการพัฒนายุโรปของประชาคมเศรฐกิจยุโรป และองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) หมู่รัฐกลุ่มตะวันตกจะนิยมให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในโครงการความช่วยเหลือต่างประเทศของตนยิ่งกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ทั้งนี้เพราะได้คาดหวังว่า ประเทศด้อยพัฒนาได้ทักษะและนำทักษะนี้ไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ก็จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนของรัฐที่มีทุนเหลือเฟือทั้งหลายนำไปใช้ผลักดันกระบวนการพัฒนาต่อไปได้

Economic Integration : Customs Union

บูรณาการทางเศรษฐกิจ : สหภาพศุลกากร

ข้อตกลงในหมู่รัฐต่างๆที่กำหนดให้มีการค้าเสรีในหมู่สมาชิก และให้มีภาษีศุลกากรภายนอกร่วมกันเพื่อใช้กับสินค้าเข้าจากภายนอกสหภาพ ข้อตกลงในการจัดตั้งสหภาพศุลกากรนี้ตามปกติจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่เก็บภาษีขาเข้าและการแบ่งสรรปันส่วนในหมู่สมาชิกของสหภาพตามสูตรสำเร็จที่ได้ตกลงกันไว้ อัตราภาษีศุลกากรภายนอกที่ใช้ร่วมกันนี้จะอิงพื้นฐานของอัตราเฉลี่ยก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในสหภาพ

ความสำคัญ สหภาพศุลกากรจะส่งเสริมให้มีการขยายการค้าในหมู่สมาชิกโดยใช้วิธีต่อไปนี้ (1)ขจัดอุปสรรคทางการค้า (2) ให้มีความชำนาญเฉพาะทางในการผลิต และ(3) สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้มติมหาชนให้การสนับสนุนการค้าภายในสหภาพ สหภาพศุลกากรจะทำการผลักดันให้ก้าวหน้าต่อไปสู่ความมีเอกภาพทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นโดย (1) ให้มีการเคลื่อนไหวของทุนและแรงงานโดยอิสระ และ (2) ให้มีการกำหนดนโยบายทางการค้าและการเงินร่วมกัน นอกจากนี้แล้ว สหภาพศุลกากรก็ยังจะก้าวต่อไปสู่สหภาพทางการเมือง ยกตัวอย่าง เช่น กรณีของเยอรมนี และของออสเตรีย-ฮังการี ในคริสตศตวรรษที่ 19 สหภาพศุลกากรเบเนลักซ์(ประกอบด้วย เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(สมาชิกแรกเริ่มประกอบด้วยกลุ่ม
เบเนลักซ์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี) ได้ทำหน้าที่เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ค.ศ. 1948 และ 1958 ตามลำดับ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังอีกหลายชาติที่จัดตั้งสหภาพศุลกากรกับดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นของตน ยกตัวอย่าง เช่น ข้อตกลงของสหรัฐอเมริกากับเปอร์โตริโก เป็นต้น

Economic Integration : Economic Union

บูรณาการทางเศรษฐกิจ : สหภาพทางเศรษฐกิจ

บูรณาการทางเศรษฐกิจของรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป โดยใช้วิธีการพัฒนานโยบายทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน สหภาพทางเศรษฐกิจ (1) จะจัดตั้งตลาดร่วมและภาษีศุลกากรภายนอกร่วมกัน (2) จะกำหนดให้มีการเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานและทุนได้โดยอิสระ (3) จะประสานภาษีและเงินอุดหนุนที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าภายในภูมิภาคให้กลมกลืนกัน (4) จะมีเป้าหมายเพื่อประสานนโยบายการคลังและการเงินร่วมกัน การมีสถาบันทางการเมืองเพื่อให้เป็นที่ตัดสินใจทางเศรษฐกิจร่วมกัน เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับสหภาพทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ประชาคมทางเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) ทำหน้าที่เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจโดยมีองค์กรทางการเมืองต่างๆร่วมกัน

ความสำคัญ สหภาพทางเศรษฐกิจจะมีการกำหนดให้มีการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุด ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุถึงบูรณาการในระดับสูงสุดนี้ได้ก็จะเป็นผลมาจากไม่สามารถสร้างสหภาพทางการเมืองที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้นั่นเอง ถึงแม้ว่าสหภาพทางเศรษฐกิจจะมีลักษณะต่างๆคล้ายกับลักษณะของพื้นที่การค้าเสรี และสหภาพทางศุลกากร แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ ในสหภาพทางเศรษฐกิจจะมีการประสานนโยบายทางการคลังและการเงินภายในหมู่สมาชิก ระดับของบูรณาการในสหภาพทางเศรษฐกิจจะไม่ถูกกำหนดไว้ตายตัว แต่จะมีการขยายต่อไปเรื่อยๆเมื่อมีการพัฒนาสมานฉันท์ในประชาคมจนเกิดการสนับสนุนความร่วมมือในด้านต่างๆขึ้นมา สหภาพทางเศรษฐกิจมีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ (1) เพื่อส่งเสริมตลาดให้ขยายตัวมากขึ้น (2) เพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะอย่างในการผลิตมากยิ่งขึ้น และ (3)เพื่อให้มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นโดยวิธีให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอันสืบเนื่องมาจากลัทธิปกป้องของภาครัฐบาลได้ถูกขจัดออกไปได้

Economic Integration : Free Trade Area

บูรณาการทางเศรษฐกิจ : เขตการค้าเสรี

ภูมิภาคที่ประกอบด้วยรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป ที่มีการขจัดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆออกไป เขตการค้าเสรีมีข้อแตกต่างจากระบบสิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นระบบที่ให้คงภาษีศุลกากรเอาไว้เพียงแต่กำหนดอัตราพิเศษไว้แก่ชาติสมาชิก แต่เขตการค้าเสรีนี้ก็ยังไม่ก้าวไปถึงขั้นของสหภาพศุลกากร ที่นอกจากจะมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีแล้วก็ยังมีการกำหนดให้ใช้ระบบภาษีศุลกากรร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกกับชาติที่มิได้เป็นสมาชิกด้วย ในข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีนี้ รัฐสมาชิกยังคงมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนานโยบายการค้าชาติตนกับชาติอื่นๆทั่วโลกได้ ตัวอย่างของเขตการค้าเสรี ได้แก่ สมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) และสมาคมบูรณาการละตินอเมริกา (แอลเอไอเอ)

ความสำคัญ ข้อตกลงว่าด้วยพื้นที่การค้าเสรีมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนการค้าระหว่างรัฐสมาชิก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังปล่อยให้ความสัมพันธ์ทางการค้าของรัฐสมาชิกกับรัฐอื่นๆยังคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีมีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบการให้สิทธิพิเศษทั้งหลายทั้งปวง คือ จะทำให้ชาติที่อยู่ภายนอกเขตพื้นที่นี้เห็นว่าเป็นระบบที่มีอคติได้ ทั้งนี้เพราะว่าสินค้าส่งออกของชาติภายนอกที่ส่งไปยังเขตการค้าเสรีนี้จะมีราคาแพงมากยิ่งขึ้นและมีการแข่งขันน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของชาติสมาชิกในเขตพื้นที่ สมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา) เป็นเขตการค้าเสรีในแบบพหุภาคีแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ขั้นพื้นฐาน คือ การขจัดภาษีศุลกากรทางด้านอุตสาหกรรมทุกอย่างระหว่างหมู่ชาติสมาชิกได้สำเร็จ

Economic Integration : Marshall Plan

บูรณาการทางเศรษฐกิจ : แผนมาร์แชลล์

ข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายจอร์จ ซี. มาร์แชลล์ เมื่อปี ค.ศ. 1947 ให้สหรัฐฯดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังพินาศจากผลของสงครามในยุโรปตะวันตก รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯได้ยอมรับแผนมาร์แชลล์นี้ในปี ค.ศ. 1948 เมื่อได้จัดตั้งโครงการบูรณะยุโรป(อีอาร์พี) เพื่อจัดหาเงินทุนแบบให้เปล่าและเงินกู้ให้แก่ชาติต่างๆในยุโรปที่ตกลงใจเข้ามาร่วมโครงการ และจากการกระตุ้นของสหรัฐฯ 16 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการก็ได้จัดตั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป(โออีอีซี) อันเป็นองค์การในระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในโครงการฟื้นฟูบูรณะ และเพื่อร่วมกันร่างรายการของทรัพยากรและความต้องการต่างๆให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สหภาพโซเวียตและประเทศที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์อื่นๆในยุโรปตะวันออก ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมในโครงการนี้เหมือนกันแต่ทุกประเทศได้ปฏิเสธคำเชิญหมด ในระหว่างปี ค.ศ. 1948-1952 สหรัฐฯ ได้จัดหาเงินแบบให้เปล่าและเงินกู้มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ภายใต้โครงการแผนมาร์แชลล์นี้

ความสำคัญ จากความสำเร็จของแผนมาร์แชลล์ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สองโครงการแรกนี้เอง ได้ช่วยไปกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯและรัฐสภาคองเกรสให้ใช้การช่วยเหลือต่างประเทศเป็นยุทธวิธีสำหรับการต่อสู้เพื่อสร้างความปั่นปวนรวนเรให้แก่เป้าหมายของคอมมิวนิสต์ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย เมื่อถึงปี ค.ศ. 1952 แผนมาร์แชลล์นี้ได้ไปช่วยจุดประกายการฟื้นฟูที่สำคัญให้ปะทุขึ้นในทวีปยุโรปไปส่งผลให้ประเทศต่างๆที่เข้าร่วมโครงการได้ฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนสงครามไปตามๆกัน ความพยายามของสหรัฐฯภายใต้แผนมาร์แชลล์ที่จะส่งเสริมการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจในยุโรปให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ การมีตลาดร่วมแต่เพียงแห่งเดียวสำหรับทุกประเทศในยุโรปตะวันตก ก็ได้คืบคลานใกล้จะบรรลุเป้าหมายเข้าไปทุกที ทั้งนี้โดยได้มีการขยายสมาชิกภาพของประชาคมยุโรปไปยังอีก 10 ชาติและก็ยังมีชาติอื่นๆอีกหลายชาติต้องการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกอยู่เรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1961 องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) ก็ได้เข้ามาแทนที่องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป(โออีอีซี) ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้ก็ได้สืบสานงานประสานความร่วมมือให้เป็นหนึ่งเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจจากชาติสมาชิกทั้ง 24 ชาติโดยผ่านทางโครงสร้างการให้คำปรึกษา โดยที่การตัดสินใจขององค์การฯแม้จะมีอิทธิพลมากแต่ก็ไม่มีผลผูกพันให้ชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตาม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมโดยแผนมาร์แชลล์ได้รับการหนุนหลังมากขึ้นในปี ค.ศ. 1949 จากการใช้แนวทางการทหารและความมั่นคงเพื่อสร้างบูรณาการของประชาคมแอตแลนติกเหนือที่มีอยู่ในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและองค์การนาโต

Economic Integration : Preferential Trade Arrangement

บูรณาการทางเศรษฐกิจ : ข้อตกลงให้สิทธิพิเศษทางการค้า

ข้อตกลงระหว่างหลายรัฐที่จะให้มีการปฏิบัติทางการค้าด้วยความอนุเคราะห์แก่กันและกัน สมาชิกที่อยู่ในระบบให้สิทธิพิเศษทางการค้านี้แต่ละชาติจะร่วมมือลดภาษีศุลกากรหรืออุปสรรคทางการค้าอื่นๆของตนให้อยู่ในระดับตามที่ได้ตกลงกัน ผลต่างระหว่างระดับภาษีศุลกากรสำหรับชาติสมาชิกกับระดับภาษีศุลกากรที่ชาติสมาชิกแต่ละชาตินำไปใช้กับรัฐอื่นๆนั้น มีชื่อเรียกว่า”ส่วนต่างของสิทธิพิเศษ” ระบบการให้สิทธิพิเศษทางการค้านี้อาจจะเป็นแบบพหุภาคี(ตัวอย่างเช่น ระบบการให้สิทธิพิเศษของประชาชาติเครือจักรภพอังกฤษ) หรือเป็นแบบทวิภาคี (ตัวอย่างเช่น กรณีข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับฟิลิปปินส์) ข้อตกลงทางการค้าใดๆระหว่างสองชาติขึ้นไป ที่มีการลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆแต่ไม่มีข้อกำหนดว่าด้วยชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งเอาไว้ใช้กับการลดอุปสรรคทางการค้าแก่รัฐที่มิได้เป็นภาคีของข้อตกลง จะเข้าข่ายเป็นข้อตกลงแบบให้สิทธิพิเศษนี้ทั้งสิ้น

ความสำคัญ ข้อตกลงว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษทางการค้า อาจจะไปยั่วยุให้มีการตอบโต้จากรัฐหรือกลุ่มการค้าอื่นๆและนำไปสู่สงครามทางการค้าได้ ทั้งนี้เพราะข้อตกลงให้สิทธิพิเศษทางการค้านี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดความลำเอียงหรือมีอคติต่อชาติคู่ค้าที่มิได้เป็นภาคีของข้อตกลงทุกชาติได้ ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กฎเกณฑ์ว่าด้วยพฤติกรรมทางการค้านั้น กลุ่มที่ทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(แกตต์) มีข้อห้ามมิให้ทำการจัดตั้งระบบให้สิทธิพิเศษใหม่ใดๆหรือทำการเพิ่มส่วนต่างของสิทธิพิเศษแก่ระบบที่มีอยู่แล้ว วัตถุประสงค์หลักของรัฐในการทำข้อตกลงให้สิทธิพิเศษทางการค้านี้ก็เพื่อจะส่งเสริมการค้าอย่างกว้างขวางกับคู่ค้าบางชาติ และในขณะเดียวกันนั้นก็ต้องการคงมาตรการการปกป้องทางการค้าในความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัฐอื่นด้วย วัตถุประสงค์ทางการเมืองและทางความมั่นคงอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตกลงใจที่จะจัดตั้งระบบการให้สิทธิพิเศษนี้ได้เหมือนกัน ข้อเรียกร้องอย่างต่อเนื่องอย่างหนึ่งของประเทศด้อยพัฒนา ก็คือ ข้อเรียกร้องให้พวกตนได้สิทธิพิเศษทางการค้านี้เอง เพราะประเทศเหล่านี้ต้องการจะให้ลดอัตราภาษีศุลกากรลงสำหรับสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ขั้นปฐมโดยที่ประเทศร่ำรวยจะต้องไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทนด้วย เขตการค้าเสรีก็ดี สหภาพศุลกากรก็ดี สหภาพทางเศรษฐกิจก็ดี มักจะมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางให้เป็นข้อตกลงในการให้สิทธิพิเศษทางการค้าในปัจจุบัน

Economic Theory : Depression

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ

ช่วงหนึ่งของวงจรทางเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะชะงักงัน ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ดีเปรสชั่น” หรือ “สลัมพ์” นี้จะมีลักษณะสำคัญ คือ (1) เกิดการถดถอยทางธุรกิจ (2) คนมีอำนาจซื้อน้อยลง (3) มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก (4) เกิดภาวะเงินฝืด และ (5) ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นลดลงมาก ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนนี้ เมื่อมีความล้มเหลวในการทำงานเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจอย่างหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ตกต่ำต่อไปยังภาคธุรกิจอื่นๆและนำไปสู่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจโดยรวมขึ้นมาได้ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในประเทศทุนนิยมทั้งหลายจะเกิดชึ้นในช่วงหลังจากที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นสู่ระดับสูงสุดแล้ว ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตและในด้านการขยายตัวทางเครดิตที่ส่งผลให้เกิดการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุด เนื่องจากมีความโยงใยถึงกันและกันของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะกระจายออกไปนอกพรมแดนของประเทศนั้นสู่ประเทศอื่นๆได้ ความถดถอยทางเศรษฐกิจหรือที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า “รีเซสชั่น” นั้นเป็นการตกต่ำทางเศรษฐกิจที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าและมีช่วงเวลาที่สั้นกว่าภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้

ความสำคัญ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจมักจะส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งในด้านความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ด้านความวุ่นวายทางสังคมและการเมือง ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกในทศวรรษปี 1930 ทำให้เกิดยุคชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ยุคเผด็จการ และยุคสงครามที่มีความรุนแรงไม่มีครั้งใดเสมอเหมือน ในช่วงที่ยังมีสงครามเย็น กล่าวคือช่วงที่มีการแข่งขันต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายโลกเสรีกับฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้น ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆในชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบร้ายแรง คือจะทำให้คนหันไปนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ทฤษฎีทางเศรษฐกิจในแบบคลาสสิกเห็นว่า ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถแก้ไขได้ด้วยพลังแก้ไขตนเองทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในระบบทุนนิยม ในปัจจุบันได้มีการนำเอาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางเศรษฐกิจมาใช้ในนโยบายทางการคลังและทางการเงินของภาครัฐบาลเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจของชาติเลื่อนไถลไปสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า รีเซสชั่น นั้น เมื่อรัฐบาลปฏิบัติการดังนี้ คือ (1) ให้คนเลิกออมทรัพย์ (2) สนับสนุนให้มีการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยเงิน (3) ทำการลดภาษี (4) จัดหางานให้คนทำ และ (5) ให้การส่งเสริมขวัญและกำลังใจ เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไม่เลื่อนไถลตกไปสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ได้ ชาติที่ประกอบการค้าชั้นนำทั้งหลายจะใช้นโยบายทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อช่วยให้เกิดเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของโลกเมื่อมีภัยจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเข้ามาคุกคาม ด้วยการใช้นโยบายดังกล่าวทำให้สามารถแก้ไขภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ทัน จนไม่ให้เกิดเป็นสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้

Economic Theory : Economic Nationalism

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

การที่ภาครัฐบาลเข้าทำการชี้นำและควบคุมกิจการทางเศรษฐกิจภายนอก นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านการเมือง หรือทางด้านความมั่นคง โดยใช้วิธี (1) ปกป้องตลาดภายในประเทศ หรือ (2) เพิ่มพูนโอกาสทางการค้าที่ต่างประเทศ หรือ (3) กระทำทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน ชาตินิยมทางเศรษฐกิจมีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบการค้าเสรี ซึ่งเป็นระบบที่ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจทั้งหลายจะปลอดพ้นจากกฎเกณฑ์และการควบคุมของภาครัฐบาล นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจอาจจะมีตั้งแต่แบบที่รัฐบาลเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบเสรีนิยมนั้นแต่เพียงบางส่วนไปจนถึงแบบที่รัฐบาลเข้าควบคุมนโยบายและเชิงปฏิบัติการทางเศรษฐกิจทั้งหลายทั้งปวง แล้วทำการชี้นำเพื่อให้นำพาไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์แห่งชาติ อันเป็นลักษณะของชาติที่รัฐเข้าไปทำการค้าเสียเองและชาติที่อยู่ในระหว่างสงคราม เทคนิคของชาตินิยมทางเศรษฐกิจมีดังนี้ (1) ให้มีการค้าที่มีการชี้นำจากภาครัฐบาล (2) มีการตั้งกำแพงภาษีและมีระบบโควตา (3) มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสินค้า (4) มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา (5) มีการกำกับดูแลเงินตรา (6) มีการให้เงินอุดหนุนและควบคุมการส่งสินค้าออก (7) มีการห้ามสินค้า(นำเข้าและส่งออก) และการคว่ำบาตร (8) มีระบบให้สิทธิพิเศษทางการค้า (9) มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และการโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐ และ(10) มีการทุ่มตลาด

ความสำคัญ ชาตินิยมทางเศรษฐกิจได้เป็นนโยบายแห่งรัฐร่วมกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง กับในช่วงระหว่างสงครามในทศวรรษปี 1920 ถึงทศวรรษปี 1930 ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างทศวรรษปี 1930 รัฐต่างๆส่วนใหญ่พยายามจะหลีกหนีจากสภาพที่คนตกงานมากๆและจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยได้ดำเนินนโยบายวางข้อจำกัดทางเศรษฐกิจภายนอก มีบางรัฐ เช่น เยอรมนี และอิตาลี ได้พยายามพัฒนาศักยภาพการทำสงครามของตนโดยใช้นโยบายทางเศรษฐกิจในแบบคติพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ กับได้ใช้วิธีชี้นำการค้าเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจแห่งชาติ นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะไปยั่วยุให้มีการปฏิบัติการตอบโต้โดยรัฐที่ได้รับความเสียหายด้วยการเข้าทำลายผลประโยชน์ในเบื้องแรกของนโยบายดังกล่าว ผลของนโยบายชาตินิยม ก็คือ มีการสร้างเสริมข้อจำกัดต่างๆที่จะทำให้การค้า การลงทุน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอื่นๆลดลง ตลอดจนที่จะทำให้ความมั่งคั่งไพบูลย์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปตกต่ำลง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีความพยายามที่จะป้องกันมิให้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างระบบการค้าและระบบชำระเงินในรูปแบบพหุภาคี โดยการจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศให้มาทำหน้าที่ในการปฏิบัติการร่วมกัน เช่น ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(แกตต์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เป็นต้น

Economic Theory : Expropriation

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : การเวนคืน

การที่ภาครัฐบาลยึดทรัพย์สินที่เป็นของต่างชาติแล้วโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของรัฐ ถึงแม้ว่าการเวนคืนนี้จะได้รับการรับรองว่าเป็นการใช้สิทธิ์อันชอบธรรมของอำนาจอธิปไตย แต่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศมีข้อกำหนดว่า การเวนคืนจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการแก้แค้นหรือการมีอคติ และมีการกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ด้วยว่า จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่เจ้าของเดิมในทันทีและจ่ายอย่างยุติธรรมอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ยังได้วางเป็นข้อปฏิบัติด้วยว่า การเวนคืนจะกระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสาธารณประโยชน์เท่านั้น และก็จะต้องสอดคล้องกับกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย การเวนคืนถือว่าเป็นการโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐอย่างหนึ่ง แต่ทว่าการโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐหรือศัพท์ในภาษาอังกฤษใช้ว่าแนชั่นไลเซชั่น กินความกว้างไปถึงการซื้อหรือเวนคืนทรัพย์สินของเอกชนที่เป็นต่างชาติหรือที่เป็นของคนในประเทศก็ได้ เมื่อมีการประกาศสงครามก็จะนำไปสู่การเวนคืนทรัพย์สินทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นของคนต่างด้าวชาติศัตรู

ความสำคัญ ความกลัวว่าจะมีการเวนคืนทรัพย์สินจะเป็นตัวบั่นทอนการไหลของเงินทุนจากรัฐที่มีทุนเหลือเฟือเข้าไปยังรัฐที่กำลังพัฒนา การชดใช้ค่าเสียหายจากการเวนคืนอาจจะเป็นเรื่องเกินขีดความสามารถของรัฐผู้เวนคืนที่จะทำได้ และการจ่ายเงินชดเชยด้วยความยุติธรรมนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและเจรจากันอย่างยืดเยื้อ มาตรการอย่างแรกๆที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ดำเนินการภายหลังจากได้อำนาจ ก็คือ การเวนคืนทรัพย์สินที่เป็นของเอกชนและการโอนอุตสาหกรรมที่เป็นของเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งหมด การแก้แค้นของรัฐใดรัฐหนึ่งต่อการเวนคืนทรัพย์สินส่วนบุคคลของบุคคลในสัญชาติตน ก็อาจจะกระทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้ (1) การประท้วงทางการทูต (2) การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต (3) การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ หรือ (4) การบังคับทางการทหาร เมื่อมีการเวนคืนทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกามีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยระบอบการปกครองของ ดร. ฟิเดล คัสโตรของคิวบา ทำให้มีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับคิวบา ผู้ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยใช้เงินทุนจากภาคเอกชนที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศนั้น ก็ได้เรียกร้องให้มีโครงการให้หลักประกันจากภาครัฐบาลในรัฐที่มีเงินทุนเหลือเฟือเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยภาครัฐให้หลักประกันว่า เมื่อนำเงินไปลงทุนแล้วจะไม่ถูกเวนคืน ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่คนสัญชาติอเมริกันถูกเวนคืนทรัพย์สินในต่างประเทศกว่าร้อยกรณีด้วยกัน

Economic Theory : Cross National Products(GNP)

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น(จีเอ็นพี)

รายได้ประชาชาติเบื้องต้นของชาติที่วัดโดยใช้มูลค่าของสินค้าและบริการที่ได้จากเศรษฐกิจของชาติ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติหรือจีเอ็นพีนี้จะคิดจากมูลค่าทางตลาดทั้งปวงของสินค้าและบริการประเภทผู้บริโภคและประเภททุนทั้งปวงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติจะเป็นช่วงหนึ่งปี

ความสำคัญ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น(จีเอสพี) หากคำนวณด้วยความพิถีพิถันมิให้เกิดการซ้ำซ้อนเผลอไปรวมเอามูลค่าในขั้นตอนต่างๆในการผลิตเข้าไปด้วยแล้ว ก็จะใช้เป็นดรรชนีตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้ จีเอ็นพีนี้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบผลทางเศรษฐกิจของชาติกับปีก่อนๆได้ หรือจะใช้เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นก็ได้ จีเอสพีมักจะนำมาใช้เปรียบเทียบความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจระหว่างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ระบบเศรษฐกิจและสังคมในรัฐทุนนิยมกับในรัฐคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในการเปรียบเทียบอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ควรจะมีการปรับแต่งจีเอสพีกับค่าของเงินตราที่คงที่เพื่อป้องกันการเบี่ยงเบนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงราคาที่เกิดจากสภาวะเงินเฟ้อหรือสภาวะเงินฝืด กับจะต้องทำการปรับแต่งตัวเลขของสินค้าประเภททุนเพื่อมิให้มีการรวมเอาตัวเลขส่วนที่เป็นการลงทุนเข้าไปด้วย เพราะตัวเลขการลงทุนใหม่นี้เป็นเพียงเข้าไปแทนที่ขีดความสามารถการผลิตที่เสื่อมไปแล้วหรือหมดไปแล้วเท่านั้นเอง ในการเปรียบเทียบมาตรฐานการครองชีพในประเทศต่างๆก็จะต้องนำปัจจัยการเจริญเติบโตทางด้านประชากรมาใช้ปรับแต่งตัวเลขจีเอ็นพีให้เข้ากับตัวเลขมาตรฐานรายได้รายหัวด้วย ในสหรัฐอเมริกา จีเอ็นพีของสหรัฐฯจะอยู่ในระดับประมาณสองเท่าของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นชาติคู่แข่งที่สำคัญของตน

Economic Theory : Keynesianism

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ลัทธิเคนส์

ปรัชญาและแนวปฏิบัติในการใช้กลไกของรัฐบาล กล่าวคือ นโยบายการคลังและการเงิน เพื่อเป็นแนวทางและชี้นำเศรษฐกิจที่มีการประกอบการโดยเสรี ลัทธิเคนส์มีรากฐานมาจากหลักการและการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เป็นลัทธิที่ต้องการจะปรับปรุงลัทธิทุนนิยม โดยกำหนดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแบบที่มีระบบและสามารถพยากรณ์ได้ด้วยการอิงอาศัยตัวชี้นำทางเศรษฐกิจที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจนำมาใช้ เทคนิคที่พวกยึดแนวลัทธิเคนส์นำมาใช้เพื่อดำเนินการเศรษฐกิจของรัฐ ก็คือ ให้ภาครัฐบาลทำการควบคุมและชี้นำเรื่องต่างๆ เช่น การคลัง การใช้จ่าย นโยบายภาษี อัตราดอกเบี้ย และการเครดิต ลัทธิเคนส์ต้องการจะให้ผู้นำรัฐมีระบบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเหตุและผล แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามพลังของตลาดโดยอิสระที่ไม่มีการชี้นำใดๆอันเป็นลักษณะของแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เคนส์เชื่อว่า ปัญหาหลักของทุนนิยม ก็คือ มีการออมเกินไป และเขาได้กล่าวถึงสิ่งที่ภาครัฐบาลควรกระทำไว้หลายอย่างเพื่อส่งเสริมให้มีการนำเงินออมไปใช้ในการลงทุนและในการบริโภคจับจ่ายใช้สอย เคนส์มุ่งให้ความสนใจในบทบาทของนโยบายการคลังของภาครัฐบาลที่จะแก้ไขการเสียสมดุลระหว่างโพเท็นเชียลเอ้าท์พุต(ที่ควบคุมโดยปัจจัยทางอุปทาน) กับ แอ็คชวลเอ้าท์พุต (ที่ควบคุมโดยอุปสงค์รวมของผู้บริโภค ผู้ลงทุน และรัฐบาล)

ความสำคัญ แนวทาง ”เศรษฐศาสตร์ใหม่” ที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักการเคนส์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกและในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปให้เป็นนโยบายของรัฐในหมู่รัฐที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมของโลก บรรดาผู้นำทางการเมืองทั้งหลายต่างก็ได้ทำการตกลงใจทางด้านเศรษฐกิจของรัฐตนโดยอิงอาศัยข้อเสนอแนะของบรรดาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจซึ่งได้ยอมรับแนวทางลัทธิเคนส์นี้มากยิ่งขึ้น ในการบริหารเศรษฐกิจของชาตินั้น พวกที่เชื่อถือในลัทธิเคนส์ได้หาทางป้องกันมิให้เกิดการเคลื่อนไหวตามวงจรทางเศรษฐกิจ สภาวะการตกงาน และสภาวะเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ลัทธิเคนส์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาในการแก้ไขปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย อย่างไรก็ดีลัทธิเคนส์นี้ได้อ่อนกำลังลงเนื่องจากสภาวะหนี้สินของภาครัฐบาลและสภาวะหนี้สินของผู้บริโภค ตลอดจนเกิดสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จึงได้ถูกท้าทายโดยแนวทางใหม่ 2 แนวทาง คือ (1) ลัทธิการเงิน ที่เน้นให้มีตลาดเสรีโดยให้ภาครัฐบาลมีนโยบายมุ่งควบคุมอุปสงค์ของการเงิน และ (2) เศรษฐศาสตร์ด้านอุปทาน ซึ่งเน้นนโยบายด้านภาษีและนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมอันเป็นมรรควิธีที่จะช่วยให้บรรลุถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปได้

Economic Theory : Mercantilism

ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ลัทธิพาณิชยนิยม

ปรัชญาและแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ให้ภาครัฐบาลทำการควบคุมวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของชาติเพื่อเพิ่มพูนอำนาจและความมั่นคงของรัฐ ลัทธิพาณิชยนิยมได้มอบแบบจำลองทางเศรษฐกิจให้รัฐต่างๆในทวีปยุโรปได้นำไปปฏิบัตินับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 มาจนถึงคริสตสตวรรษที่ 18 ซึ่งแต่ละรัฐก็ได้พยายามเพิ่มพูนทรัพย์สินของตนโดยให้มีการส่งออกสินค้ามากกว่าสั่งเข้าสินค้าเพื่อจะได้มีดุลการค้าที่ได้เปรียบ ซึ่งก็ส่งผลให้มีการไหลเข้ามาซึ่งทองและเงิน อุตสาหกรรมภายในประเทศได้รับการส่งเสริมโดยรัฐดำเนินนโยบายทางการเกษตรและการเหมืองแร่ ทั้งนี้เพราะการผลิตสินค้าสำเร็จรูปจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางเรือและลดราคาสินค้าลงได้มาก อาณานิคมได้ถูกใช้ให้เป็นแหล่งหาวัตถุดิบราคาถูกๆและเป็นตลาดจำหน่ายเครื่องอุปโภคที่มีราคาแพงๆ รัฐบาลได้วางกฎเกณฑ์และทำการควบคุมทุกภาคของเศรษฐกิจแห่งชาติ ค่าจ้างกำหนดให้ต่ำเข้าไว้เพื่อจะให้รัฐมีกำไรเก็บเข้าคลังหลวงมากๆ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความขยันขันแข็งในหมู่มวลชนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งตอนนั้นเชื่อกันว่า พวกนี้หากได้ค่าจ้างมากๆก็จะเกียจคร้านทำงาน

ความสำคัญ ระบบพาณิชยนิยมได้เข้าครอบงำเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่จวบจนกระทั่งทฤษฎีเสรีนิยมแบบปัจเจกชนได้เข้ามาแทนที่ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงแม้ว่าทฤษฎีพาณิชยนิยมจะเสื่อมความนิยมในเวลาต่อมา แต่ก็เป็นแนวปฏิบัติที่มีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มพูนอำนาจรัฐในช่วงที่เกิดสงครามและช่วงที่ความอยู่รอดของชาติจะต้องอาศัยความสามารถของรัฐทางด้านการเงินที่จะจ้างคนและธำรงกองทัพอันประกอบด้วยทหารอาชีพเข้าไว้ให้ได้ แนวปฏิบัติ “ลัทธิพาณิชยนิยมแบบใหม่” อย่างเช่น เน้นให้มีดุลการค้าที่ได้เปรียบ ตลอดจนให้ภาครัฐบาลทำการวางข้อกำหนดและสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางนี้ ก็ยังมีรัฐต่างๆนำมาปฏิบัติจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ และก็ยังมีบางชาติพยายามจะสร้างระบบสำรองทองคำของตนโดยมีความเชื่อเหมือนอย่างที่พวกพาณิชยนิยมว่า ทองคำซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีคุณค่ามากนี้จะช่วยเพิ่มพูนอำนาจรัฐได้ ส่วนรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์นั้นมีอุดมคติที่ใกล้เคียงกับลัทธิพาณิชยนิยม เพราะถือว่านโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ทางการเมืองของรัฐ

Monetary Policy : Bretton Woods Conference

นโยบายทางการเงิน : การประชุมที่เบรตตันวูดส์

การประชุมทางการเงินและการคลังของสหประชาชาติ ที่ได้ยกร่างมาตราต่างๆของข้อตกลงสำหรับ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา(ไอดีอาร์ดี) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) การประชุมครั้งนี้ผู้ริเริ่มให้มีการประชุม คือ ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี.รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา จัดขึ้นที่เบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา ระหว่าง 1-22 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 มีชาติต่างๆจำนวน 44 ชาติได้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมด้วย


ความสำคัญ การประชุมที่เบรตตันวูดส์นี้ถือได้ว่าเป็นความริเริ่มในอันที่จะช่วยแก้ปัญหาการบูรณะทางด้านเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของฐานความร่วมมือเพื่อสร้างระบบการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ ที่สามารถทำงานได้ผลเพื่อนำมาใช้แทนสภาวะสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจในทศวรรษปี 1930 ทั้งธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1945 เมื่อจำนวนของชาติที่ต้องการได้ให้การยอมรับมาตราต่างๆของข้อตกลงสำหรับการจัดตั้งธนาคารฯและกองทุนฯแต่ละแห่งแล้ว ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1947 ทั้งธนาคารฯและกองทุนฯได้ใช้หลักการและนโยบายทางเศรษฐกิจของลัทธิเคนส์กับระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

Monetary Policy : Convertibility

นโยบายทางการเงิน : ความสามารถในการแปลงค่า

การแลกเปลี่ยนเงินตราของชาติท้องถิ่นไปเป็นเงินตราต่างประเทศโดยภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ ได้โดยอิสระโดยที่ไม่มีการควบคุมจากภาครัฐบาล ดังนั้นเงินตราที่สามารถแปลงค่าได้นี้จะไม่มีการควบคุมในเรื่องค่าของเงินหรือจำนวนเงินที่จะแลกเปลี่ยนโดยใช้ระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนภายในชาติแต่อย่างใด


ความสำคัญ ความสามารถในการแปลงค่าเงินตรานี้ส่วนใหญ่แล้วจะถูกจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ (1) เมื่อรัฐบาลต้องการปกป้องชาติจากการเสียสมดุลในดุลการชำระเงิน (2) เมื่อรัฐบาลต้องการคงค่าแลกเปลี่ยนที่สูงหรือต่ำของเงินตราของตนไว้ หรือ (3) เมื่อรัฐบาลพยายามจะใช้การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือทางการทหารแห่งชาติตน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่กำลังพัฒนา เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลแข็งอื่นๆ มักถูกเก็บเอาไว้เพื่อใช้ซื้อสินค้าประเภททุนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นก็จะเอาเงินตราสกุลชาติตนไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลแข็งๆเพื่อนำไปซื้อสินค้าประเภทผู้บริโภคโดยเสรีไม่ได้ เงินตราของโลกสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 3 ประเภท คือ (1) เงินตราสกุลแข็งของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย (2) เงินตราสกุลอ่อนของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย และ(3) เงินตราที่ถูกควบคุมของประเทศคอมมิวนิสต์และของประเทศที่รัฐดำเนินการค้าโดยตรง เงินตราตามข้อ 1 สามารถแลกเปลี่ยนได้โดยเสรี ส่วนเงินตราในข้อ 2 และข้อ 3 จะแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐบาลเสียก่อน ข้อนี้เองจึงเป็นผลให้มีตลาดมืดค้าเงินตราต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นทางการ

Monetary Policy : Counterpart Funds

นโยบายทางการเงิน : กองทุนสมทบ

เงินตราสกุลท้องถิ่นที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือจ่ายให้แก่ประเทศผู้บริจาคสำหรับเงินกู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการทหาร ทางด้านการพัฒนา หรือทางด้านเทคนิค ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือนั้น ประเทศผู้รับความช่วยเหลืออาจต้องรับเงื่อนไขให้จัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนเท่ากับจำนวนที่ได้รับในการแลกเปลี่ยนต่างประเทศนั้นได้

ความสำคัญ ด้วยเหตุที่เงินกองทุนสมทบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนค่าเป็นเงินสกุลแข็งได้ ดังนั้นรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือมักจะนำมาใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นเอง หรือให้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาและโครงการที่จะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อต่างๆ ประเทศผู้บริจาคที่ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศมากๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น จะมีเงินสกุลท้องถิ่นในกองทุนนี้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งก็จะทำให้ชาติผู้บริจาคนี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายแห่งชาติของประเทศที่รับความช่วยเหลือได้ ในบางกรณีนั้นสถานการณ์เช่นนี้จะถูกกลุ่มต่างๆภายในประเทศที่รับความช่วยเหลือใช้เป็นข้ออ้างกล่าวหาประเทศผู้บริจาคว่ากำลังดำเนินนโยบายล่าเมืองขึ้น

Deflation

ภาวะเงินฝืด

ภาวะที่ระดับของราคาสินค้าในเศรษฐกิจของชาติลดต่ำลง ภาวะเงินฝืดนี้เกิดขึ้นเพราะผลของอุปสงค์เงินและเครดิตลดต่ำลง หรือมาจากผลของการมีการผลิตมากเกินไป หรือมาจากการมีการบริโภคน้อยเกินไปซึ่งสินค้าประเภทผู้บริโภค ภาวะเงินฝืดมักจะโยงใยไปถึงภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่วนภาวะเงินเฟ้อนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู

ความสำคัญ นักเทคนิคทางเศรษฐกิจถือว่า ภาวะเงินฝืดที่มีความรุนแรงมากๆเป็นการคุกคามต่อเศรษฐกิจของชาติได้ เพราะจะส่งผลให้เกิดการว่างงาน การลงทุนลดลง การบริโภคลดลง และก่อให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ในระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานของเครดิตนั้น สภาวะเงินฝืดจะทำให้หนี้สินลดลงได้ยาก และทำให้สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่เอกชนและภาคธุรกิจต่างๆ ผู้ให้การสนับสนุนนโยบายการเงินที่มีเสถียรภาพ บอกว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการอย่างแข็งขันเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะเงินฝืด หรือแก้ไขภาวะเงินฝืดนี้ให้ได้ก่อนที่จะส่งผลเสียหายจริงๆ หรือผลเสียหายทางด้านจิตวิทยาที่รุนแรงแก่เศรษฐกิจของชาติ รัฐสมัยใหม่ทุกรัฐจะใช้นโยบายการเงินและการคลังเป็นมาตรการแก้ไขเมื่อเกิดภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืดนี้ แต่ในบางครั้งรัฐบาลก็อาจดำเนินนโยบายภาวะเงินฝืดนี้ด้วยความจงใจเพื่อทำการแก้ไขอันตรายของภาวะเงินเฟ้อไปเสียเลย หรือเพื่อไปกระตุ้นให้มีการส่งออกมากๆเพื่อแก้ไขการเสียเปรียบดุลการชำระเงิน ปัญหาภาวะเงินฝืดนี้นับตั้งแต่ที่เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เมื่อทศวรรษปี 1930 แล้วก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นในแถบตะวันตกอีกเลย

Monetary Policy : Devaluation

นโยบายทางการเงิน : การลดค่าเงินตรา

การลดค่าแลกเปลี่ยนของหน่วยเงินตราของชาติ การลดค่าเงินตรานี้ตามปกติจะเป็นนโยบายที่รัฐจงใจนำมาใช้เพื่อลดค่าเงินตราของชาติลงมาเมื่อเทียบกับค่าของทองคำหรือค่าของเงินตราของชาติอื่น

ความสำคัญ การลดค่าเงินตรามักจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือของนโยบายการค้าของชาติที่ประสบกับปัญหาการเสียเปรียบดุลการชำระเงินอย่างรุนแรง เมื่อมีการลดค่าเงินตราของชาติลงมา รัฐผู้ลดค่าเงินตรานั้นก็จะลดราคาของผลิตภัณฑ์ของตนในตลาดโลก ซึ่งก็จะเป็นตัวไปกระตุ้นให้รัฐนั้นมีการค้าผลิตภัณฑ์ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นสินค้านำเข้าก็จะมีราคาแพงสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการลดการค้าสินค้านำเข้าในรัฐนั้นลง ด้วยวิธีนี้รัฐก็อาจใช้การลดค่าเงินตรานี้เพื่อแก้ไขการขาดดุลการชำระเงินของตนได้ แต่ถ้าหากรัฐอื่นๆดำเนินตามรอยเดียวกันนี้โดยทำการลดค่าเงินตราของตนบ้าง สัมพันธภาพทางเงินตราระหว่างประเทศทั้งปวงก็จะกลับคืนสู่ระดับเดียวกัน คือระดับก่อนที่จะมีการลดค่าเงินตราในครั้งแรกนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของโลกครั้งใหญ่เมื่อทศวรรษปี 1930 นั้น ระบบการเงินระหว่างประเทศตกอยู่ในสภาพยุ่งยากมากเพราะผลจากการลดค่าเงินตราซ้ำซากหลายๆรอบทั้งนี้เพราะหลายรัฐต้องการจะหาวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในของตนด้วยการช่วงชิงส่วนแบ่งของตลาดโลกให้ได้มามากๆ ได้มีการก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) หลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อนำมาสร้างเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ โดยวิธีคอยกำกับดูแลค่าของเงินตราและให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศในช่วงที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน นอกจากนี้แล้วประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ก็ยังได้ร่วมกันทำข้อตกลงที่กำหนดให้จัดหาทรัพยากรด้านเงินเพิ่มเติมสำหรับใช้ต่อสู้ต้านทานการลดค่าเงินในระหว่างเกิดวิกฤติทางการเงิน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาได้มีการลดค่าเงินตราของชาติต่างๆหลายครั้ง แต่การลดค่าเงินตราครั้งสำคัญๆนั้นจะมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องมีการปรับแต่งเงินตราด้วยความเห็นชอบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศแล้วเท่านั้น ไม่มีการแข่งขันลดค่าเงินอีกต่อไปแล้ว เมื่อได้มีการจัดตั้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1973 ขึ้นมาซึ่งทำให้เงินตรามีการลอยตัวได้อย่างเสรีนั้น ก็ได้ช่วยให้ค่าเงินตรามีเสถียรภาพ อย่างไรก็ดี ในทศวรรษปี 1980 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายลดค่าเงินสกุลดอลลาร์ของตนลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขความเสียเปรียบดุลการค้าและดุลการชำระเงินของตน

Monetary Policy : Exchange Control

นโยบายทางการเงิน : การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา

การที่ภาครัฐบาลทำการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลชาติตนและเงินตราสกุลต่างประเทศ การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้จะนำมาใช้แทนการตัดสินใจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของรัฐที่จะปล่อยให้มีการซื้อและการขายเงินตราโดยให้เป็นไปตามพลังตลาดเสรีอย่างเต็มที่ การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้ตามปกติจะมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงอัตราส่วนการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสกุลชาติตนกับเงินตราสกุลต่างประเทศโดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมอีกต่อไป กับมีวัตถุประสงค์ว่าจะอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลชาติตนเป็นสกุลต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อได้พิจารณาเห็นว่าจะเป็นผลประโยชน์ของชาติตนเท่านั้น การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราจะมีตั้งแต่ระดับทำการควบคุมเต็มที่ซึ่งธุรกรรมเกี่ยวกับเงินตราทั้งหมดไปจนถึงระดับเข้าควบคุมอย่างจำกัดเฉพาะกิจกรรมบางประเภทเพื่อแก้ปัญหาทางด้านการเงินเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

ความสำคัญ การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการควบคุม คือ (1) เพื่อแก้ไขการเสียเปรียบดุลการชำระเงินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง หรือ (2) เพื่อสกัดกั้นมิให้มีการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่หาได้ยากเพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้านำเข้าต่างๆ แต่ให้นำมาใช้กับโครงการลงทุนต่างๆเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในหมู่รัฐอุตสาหกรรมต่างๆก็จะมีการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้เพื่อตรวจสอบการไหลเข้าของเงินตรา อย่างเช่นที่เคยใช้ในหลายรัฐในทวีปยุโรป เพื่อป้องกันมิให้เงินทุนไหลเข้าไปในสหรัฐอเมริกาในระหว่างทศวรรษปี 1930 อันเป็นช่วงที่กำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนั้นจะต้องมีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างประเทศทั้งหมดเพื่อมุ่งเป้าหมายจะให้มีชัยชนะในสงคราม ถึงแม้ว่ารัฐในยุโรปตะวันตกจะได้ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้ต่อมาอีกช่วงเวลาหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อรัฐเหล่านี้ได้สร้างระบบสำรองดอลลาร์และสำรองทองคำขึ้นมาแล้ว ก็ได้เลิกควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้ หรือจะควบคุมบ้างก็ไม่เคร่งครัดนัก ข้างฝ่ายประเทศที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์และประเทศที่รัฐทำการค้าโดยตรงนั้นก็จะเข้าควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ส่วนชาติที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่แล้วจะใช้การควบคุมนี้เพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศไว้ใช้สำหรับโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในทศวรรษปี 1970 ได้เกิดระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นเมื่อสหรัฐอเมริกายกเลิกความสามารถในการแปลงค่าระหว่างทองคำกับดอลลาร์เสีย หลังจากได้เกิดระบบใหม่นี้แล้วเงินตราของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายก็จะได้รับอนุญาตให้”ลอยตัว”โดยที่ให้ค่าแลกเปลี่ยนถูกกำหนดด้วยสภาวะของตลาดเป็นหลัก

Monetary Policy : Flexible Exchange Rates

นโยบายทางการเงิน : อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น

ระบบการเงินระหว่างประเทศ ที่ค่าเงินตราของแต่ละชาติจะถูกกำหนดโดยสภาวะของพลังตลาดเสรี ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้หมายถึงว่า ค่าของเงินตราของแต่ละชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆอันเป็นผลมาจากแรงกระทบของอุปทานและอุปสงค์ของเงินตราแต่ละสกุล อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ถูกกำหนดขึ้นมาใช้เมื่อปี ค.ศ. 1973 โดยชาติในกลุ่มตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ระบบแลกเปลี่ยนอัตราคงที่ที่มีการนำเงินตราสกุลชั้นนำทุกสกุลไปผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯโดยให้ค่าของการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นไปตามข้อตกลงผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)นี้ได้ใช้กันมาจวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1971 แต่ด้วยเหตุที่เงินตราสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯได้นำไปผูกไว้กับทองคำในอัตราคงที่ คือ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะฉะนั้นเงินสกุลอื่นๆทั้งหมดในระบบนี้ก็จึงได้นำไปผูกไว้กับทองคำโดยให้สัมพันธ์กับเงินตราสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1971 เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่สามารถสนองตอบข้อเรียกร้องของต่างชาติที่จะให้เปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของพวกเขาให้เป็นทองคำได้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่นี้จึงเกิดการล่มสลาย ต่อมาก็ได้มีการนำเอาระบบการแลกเปลี่ยนแบบ”รวมค่าเสมอภาคที่ปรับได้” มาใช้แทนระบบมาตราปริวรรตทองคำเป็นการชั่วคราวเป็นการขัดตาทัพไปก่อน แต่พอถึงปี ค.ศ. 1973 จึงได้มีการนำระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้มาใช้

ความสำคัญ อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้ได้สร้างระบบค่าของเงินระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพขึ้นมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 เป็นต้นมา เพราะว่าค่าของเงินตราต่างชาติต่างๆส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดด้วยพลังของตลาดอุปสงค์/อุปทานของเงินตรามิใช่โดยการบงการของรัฐบาล แต่เมื่อถึงตอนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเกิดขึ้นมานั้น ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นนี้ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในทศวรรษปี 1980 รัฐบาลสหรัฐฯได้ลดค่าเงินสกุลดอลลาร์ลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์โดยได้รับความร่วมมือจากชาติผู้ทำการค้าที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ไขการเสียเปรียบดุลการค้าของสหรัฐฯ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้ได้ช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถปรับปรุงดุลการชำระเงินของตนได้ โดยที่ระบบจะคอยเป็นดรรชนีชี้เตือนล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ ว่าค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นนั้นๆอ่อนตัวหรือแข็งตัวอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุนี้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะไปเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปของแต่ละชาติอย่างน่าเชื่อถือได้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นสามารถยืดหยัดอยู่ได้ในช่วงทศวรรษปี 1970 และทศวรรษปี 1980 อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมากหลังจากที่ราคาน้ำมันโลกตกลงอย่างมาก ซึ่งก็เป็นช่วงที่มีการขยายตัวทางการค้าและสภาพคล่องระหว่างประเทศอยู่ แต่ก็ทำให้ภาวะเงินเฟ้อมีอัตราสูงมาก อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้เกิดความอ่อนแอเพราะแรงกระทบจากการผันผวนของตลาด ซึ่งความผันผวนนี้บางครั้งก็เกิดจากการเก็งกำไรของนักเก็งกำไรที่มีอิทธิพลมากๆ เกิดจากสภาวะการว่างงานอย่างรุนแรง และเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผกผันอื่นๆในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ อย่างไรก็ดี ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นนี้ก็สามารถยืดหยัดอยู่ได้ และก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถยืดหยัดได้ต่อไปเรื่อยๆ เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก หรือเกิดช่วงของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษปี 1930

Monetary Policy : Foreign Exchange

นโยบายทางการเงิน : การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

การใช้เงินตราในชาติเพื่อซื้อสินค้าต่างประเทศหรือเพื่อชำระบัญชี ราคาหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในชาติถูกกำหนดโดยอุปทานและอุปสงค์ในตลาดการเงินระหว่างประเทศ หรือโดยการกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนตามอำเภอใจผ่านทางระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ

ความสำคัญ นักธุรกิจที่ประสงค์จะซื้อสินค้าต่างประเทศจะต้องปริวรรตเงินตราชาติของตนไปเป็นเงินตราต่างประเทศเสียก่อน และเมื่อมีการนำเงินไปใช้จ่ายในต่างประเทศมากๆก็จะเป็นอันตรายต่อค่าเงินตราชาติของตนได้ รัฐบาลก็อาจจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ (1) ให้การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลเสียก่อน(การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา) (2) ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างประเทศเป็นที่ต้องการมาก หรือต้องการน้อยโดยการเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินตราสองสกุล(การเพิ่มค่าเงินหรือลดค่าเงิน) หรือ (3)อาจลดหรือเพิ่มภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆเพื่อลดหรือเพิ่มสินค้าเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี มาตรการของภาครัฐบาลดังกล่าวปกติจะส่งผลให้เกิดมีมาตรการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือที่มีข้อจำกัดดังกล่าว ประเทศใหญ่ๆในแถบตะวันตกก็จะทำข้อตกลงร่วมกันในอันที่จะทำให้ค่าเงินตราในตลาดการเงินระหว่างประเทศได้รับการคุ้มครองโดยวิธีร่วมกันกว้านซื้อและขายเงินตราสกุลสำคัญๆ เพื่อคงเสถียรภาพการแลกเปลี่ยนเอาไว้ให้ได้

Monetary Policy : Gold Standard

นโยบายทางการเงิน : มาตราทองคำ

ระบบการเงินระหว่างประเทศที่ใช้ทองคำเป็นมาตรฐานค่าของเงินร่วมกัน ภายใต้ระบบมาตรฐานทองคำนี้เงินตราของแต่ละชาติจะมีทองคำหนุนหลัง เงินตราแต่ละสกุลมีค่าที่วัดกันด้วยทองคำ และเงินตราแต่ละสกุลสามารถแลกเปลี่ยนเป็นทองคำหรือเงินสกุลใดๆของชาติที่อยู่ในระบบนี้ได้ การเสียเปรียบหรือการได้เปรียบในดุลการชำระเงินจะตกลงกันด้วยทองคำที่ออกจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ภายใต้มาตราปริวรรตทองคำที่ได้รับการแก้ไขนั้น ธนาคารกลางจะเป็นผู้ซื้อและขายเงินตราของชาติที่มีทองคำซึ่งมีค่าคงที่หนุนหลังอยู่

ความสำคัญ มาตราทองคำนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นระบบการเงินระหว่างประเทศขั้นพื้นฐานมาตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 19 จวบจนถึงปี ค.ศ. 1914 และระบบนี้ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกในช่วงเวลาสั้นๆระหว่าง ค.ศ. 1925-1931 และช่วงระหว่าง ค.ศ. 1958-1971 โดยออกมาในรูปของมาตรฐานปริวรรตทองคำ เมื่อปี ค.ศ. 1971 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีนิกสัน ได้ถูกบีบบังคับให้ต้องตัดความสัมพันธ์ที่ผูกกันไว้ระหว่างทองคำกับเงินตราสกุลดอลลาร์ที่มีการแลกเปลี่ยนด้วยอัตราคงที่ ทั้งนี้เพราะเงินสกุลดอลลาร์มีอยู่ล้นโลกจึงได้มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯเพิ่มทุนสำรองทองคำเป็นอีกหนึ่งเท่าตัว ถึงแม้ว่ามาตราทองคำนี้จะมีข้อดีอยู่ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันในการแปลงค่าเงินตราทุกสกุลในระบบการจ่ายเงินระดับพหุภาคีอย่างแท้จริงโดยเสรี แต่จากการที่มีอุปทานของทองคำอย่างจำกัดก็จึงเป็นการยากที่จะสร้างทุนสำรองทองคำนี้อย่างพอเพียงในช่วงที่มีการค้าขายเพิ่มมากขึ้นได้ การไหลเข้าประเทศหรือการไหลออกนอกประเทศของทองคำจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดและภาวะเงินเฟ้อที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาได้(ถ้าทองคำไหลออกนอกประเทศมากก็จะเกิดภาวะเงินฝืด แต่ถ้าทองคำไหลเข้ามาในประเทศมากไปก็จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้) ทั้งนี้เพราะค่าของเงินตราภายในของแต่ละชาตินั้นอิงปริมาณทองคำที่ชาตินั้นๆครอบครองอยู่ เมื่อรัฐบาลกำหนดเป็นเป้าหมายของชาติไว้ว่าจะต้องรักษาเสถียรภาพของเงินตราของตนไว้ให้ได้ แต่สภาพการจ้างงานอย่างเต็มที่ก็ดี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วก็ดี กลไกการปรับตัวเองโดยอัตโนมัติของมาตรฐานทองคำก็ดี มิได้เป็นไปโดยสอดประสานกัน ดังนั้นก็จึงได้มีการนำระบบเงินตราแบบธนบัตรมาใช้แทน ระบบมาตราปริวรรตทองคำที่ดำเนินมาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1971 ได้อ่อนแอลงเนื่องจาก (1) สภาวะขาดแคลนทองคำทั่วโลก (2) สภาวะขาดดุลการชำระเงินของสหรัฐอเมริกา และ(3) สภาวะที่หลายชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสรีบแลกเปลี่ยนดอลลาร์ที่ตนมีอยู่เป็นทองคำอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีในปี ค.ศ. 1967 กลุ่มจี –7 หรือกลุ่มมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ ได้ตกลงกันที่จะเสริมสร้างระบบการเงินของโลกโดยการสร้าง ”ทองคำกระดาษ” ในรูปแบบของการจัดตั้ง สิทธิถอนพิเศษ(สเปเชียล ดรอวิ่ง ไร้ท์=เอสดีอาร์) ขึ้นมาเพื่อสมาชิกทุกชาติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เมื่อมีเครดิตเพิ่มขึ้นมาด้วยวิธีดังกล่าวนี้แล้ว ชาติที่ทำการค้ารายใหญ่ๆทั่วโลกก็ได้พยายาม”บริหารจัดการ” อุปทานการเงินระหว่างประเทศในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลของชาติต่างๆใช้ธนาคารกลางของตนคอยกำกับดูแลเงินตราภายในของตนนั่นแหละ ราคาของทองคำซึ่งเคยมีราคาคงที่ที่ 35 ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งออนซ์เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ก็ได้ถีบตัวสูงขึ้นในตลาดโลกอันเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเงินสกุลต่างๆส่วนใหญ่

Monetary Policy : Inflation

นโยบายทางการเงิน : ภาวะเงินเฟ้อ

การเพิ่มขึ้นของระดับราคาทั่วไปของสินค้าในเศรษฐกิจของชาติ ภาวะเงินเฟ้ออาจเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินและเครดิต หรืออาจเป็นผลมาจากการไร้สภาวะการแข่งขันในตลาด หรือมาจากการลดลงของอุปทานสินค้า เงื่อนไขของภาวะเงินเฟ้อนี้มักจะเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลเอง คือ มีการใช้จ่ายเงินขาดดุล หรือดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดจังหวะ ไม่ว่าภาวะเงินเฟ้อนี้จะมีสาเหตุมาจากอะไร นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ปัจจัยทางจิตวิทยามวลชนมีส่วนไปทำให้เกิดเป็นแรงกระทบและขยายขอบเขตภาวะเงินเฟ้อออกไปมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนกลัวว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก็จะไปกระตุ้นให้ไปซื้อสิ่งของในระบบเงินผ่อน ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

ความสำคัญ ภาวะเงินเฟ้ออาจเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของชาติได้ กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มว่าจะต้องแบกภาระจากภาวะเงินเฟ้อนี้หนักกว่าใครหมด ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้ด้วย ภาวะเงินเฟ้อจะทำลายด้วยการกัดกินเงินออมเสียหมดจนมีไม่พอที่จะนำไปใช้ลงทุน ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจถูกขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงเป้าหมายได้ ภาวะเงินเฟ้อนี้ก็ยังมีผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศเพราะจะไปทำให้สินค้าส่งออกมีราคาสูงจนไม่สามารถส่งไปขายแข่งในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูงมากได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อนี้มีการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ก็จะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดหนี้ของภาคเอกชนและหนี้ของภาครัฐบาลได้ ยกตัวอย่างเช่น เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาถูกควบคุมให้อยู่ในระดับโดยเฉลี่ยปีละ 7 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นระดับเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในโลกก็ว่าได้ แต่พอถึงช่วงปลายทศวรรษปี 1970 ถึงช่วงต้นทศวรรษปี 1980 อัตราภาวะเงินเฟ้อต่อปีในประเทศต่างๆส่วนใหญ่ขึ้นสูงถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ในช่วงกลางทศวรรษปี 1980 ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาก็สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้นโยบายทางการเงิน สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนานั้น อัตราเงินเฟ้อจะขึ้นสูงถึงปีละ 100 เปอร์เซ็นต์ และก็มีหลายประเทศ เช่น อิสราเอล ชิลี และอาร์เจนตินา มีภาวะเงินเฟ้อขึ้นสูงมากเกินกว่าปีละ 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุด อย่างเช่น ญี่ปุ่น และเยอรมนี ที่สามารถคงความแข็งแกร่งของเงินตราสกุลของตนไว้ได้ และในขณะเดียวกันนั้นอัตราเงินเฟ้อของสองประเทศนี้ก็ยังแถมอยู่ในระดับต่ำเสียอีกด้วย

Monetary Policy : International Monetary Fund(IMF)

นโยบายทางการเงิน : กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาโดยการประชุมการเงินและการคลังเบรตตันวูดส์ปี ค.ศ. 1944 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์หลักของกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีดังนี้ คือ (1) เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในการปริวรรตเงินตรา (2) เพื่อจัดตั้งระบบการชำระเงินในแบบพหุภาคีทั่วโลก และ(3) เพื่อจัดหาเงินทุนสำรองเพื่อช่วยชาติสมาชิกแก้ปัญหาความเสียเปรียบดุลการชำระเงินในระยะสั้น เมื่อปี ค.ศ. 1987 กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีสมาชิกจำนวน 151 ชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีหน้าที่สร้างเสถียรภาพทางการเงิน 2 ประการ คือ (1) คอยกำกับดูแลค่าของเงินตราโดยควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน (2) กำหนดให้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะทำให้สมาชิกซื้อเงินตราต่างประเทศด้วยเงินตราสกุลภายในชาติตนเพื่อนำมาแก้ปัญหาในช่วงที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขั้นร้ายแรงได้ เมื่อสมาชิกสามารถทำได้เช่นนี้ก็จะนำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นมาใช้ซื้อเงินตราสกุลของตนคืนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็จะได้เงินคืนไป อำนาจในการลงคะแนนเสียงในกองทุนการเงินระหว่างประเทศถูกกำหนดด้วยขนาดของเงินอุดหนุนของชาติสมาชิก ทั้งนี้โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือเงินอุดหนุนอยู่ถึงหนึ่งในห้าของเงินอุดหนุนทั้งหมด ปกติแล้วการตัดสินใจในกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะริเริ่มโดยกลุ่มจี -10 คือ กลุ่มมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมใหญ่ 10 ชาติที่จะลงคะแนนเสียงกันในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ความสำคัญ กองทุนการเงินระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองหวนกลับคืนสู่สภาวะทางการคลังที่สับสนวุ่นวายของช่วงทศวรรษปี 1930 โดยเป็นช่วงที่อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราเกิดการผันผวนอย่างหนักและเกิดการแข่งขันลดค่าเงินสกุลของแต่ละชาติเป็นว่าเล่น การลดค่าเงินตราที่สำคัญๆไม่เกิดขึ้น ยกเว้นการลดค่าเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษในปี ค.ศ. 1949 และ 1967 และกองทุนการเงินระหว่างประเทศโดยทั่วไปแล้วยังประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างเสถียรภาพค่าของเงินตรา แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็กำลังเผชิญปัญหาที่สำคัญ คือ (1) การขาดดุลการชำระเงินของสหรัฐอเมริกาอย่างซ้ำซากต่อเนื่อง (2) การขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่การค้ากำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ (3) การเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบมาตราทองคำ เมื่ออุปทานของทองคำและดอลลาร์ที่จะนำมาใช้เป็นเงินทุนสำรองมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อปี ค.ศ. 1969 กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงได้เริ่มให้มีการใช้ระบบ สิทธิเบิกเงินพิเศษ(สเปเชียล ดรอวิ่ง ไร้ท์ =เอสดีอาร์) เพื่อนำเงินมาเสริมทุนที่มีอยู่นั้น โดยมีการเบิกเงินพิเศษในระบบเอสดีอาร์นี้ในระยะเริ่มแรกมีมูลค่าถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุที่เอสดีอาร์นี้เป็นเพียงตัวหนังสือในแฟ้มธุรการของระบบบัญชีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเท่านั้นเอง พวกสื่อมวลชนก็จึงให้สมญานามเอสดีอาร์นี้ว่า “ทองคำกระดาษ” เมื่อเกิดวิกฤติการณ์หนี้สินขึ้นมาในกลุ่มประเทศโลกที่สาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้รายสุดท้ายเพื่อป้องกันมิให้เกิดการ ”ชักดาบ” หนี้สินเก่า ทั้งนี้โดยได้ปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้ประเทศลูกหนี้เหล่านี้นำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เก่า ในทศวรรษปี 1980 กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับธนาคารโลกในการหามาตรการป้องกันมิให้กลุ่มประเทศโลกที่สาม ”ชักดาบ”เงินกู้ ทั้งนี้โดยใช้วิธีนำเงินที่ปล่อยกู้นั้นไปผูกหูไว้กับการจ่ายคืนหนี้ที่สำคัญที่ประเทศนั้นๆมีอยู่กับสถาบันทางการเงินต่างๆทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล

Trade Policy : Autarky

นโยบายทางการค้า : คติพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ

การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจของชาติ ด้วยเหตุที่นโยบายการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจนี้จะลดการพึ่งพารัฐอื่นลง รัฐก็อาจจะใช้นโยบายการพึ่งพาตนเองนี้ใน 2 กรณี คือ (1) ใช้เมื่อคาดว่าจะเกิดสงคราม หรือ (2) ใช้เพื่อแก้ไขการเสียเปรียบดุลการชำระเงินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง รัฐบาลที่รับนโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจนี้มาปฏิบัติก็จะดำเนิการดังนี้ คือ (1) ปิดกั้นการสั่งสินค้าเข้า (2) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาสิ่งทดแทนหรือสิ่งสังเคราะห์ต่างๆที่จะนำมาใช้แทนสินค้าสั่งเข้านั้น และ (4) ให้ทุนอุดหนุนการผลิตเพื่อตลาดภายใน

ความสำคัญ เมื่อมีการดำเนินนโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจนี้ รัฐก็จะต้องนำเอาระบบที่ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของชาติตนมาใช้แทนระบบที่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของอุปสงค์และอุปทานในตลาดระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีในช่วงทศวรรษปี 1930 ได้มุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจโดยให้ผลิตสิ่งสังเคราะห์ต่างๆและทำการกักตุนวัสดุทางยุทธศาสตร์และอื่นๆไว้ในคลัง ซึ่งจะทำให้เยอรมนีรอดพ้นจากการถูกปิดล้อมเมื่อยามสงครามได้ แต่แผนการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจนี้ประสบความล้มเหลวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเพราะขาดแคลนน้ำมันสำรองและอาหารสำรองเสียส่วนใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายกักตุนโภคภัณฑ์ที่จำเป็นไว้เป็นจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ทำสงครามตามแบบที่ไม่ถึงกับเป็นสงครามนิวเคลียร์

Friday, September 18, 2009

Trade Policy : Competitiveness

นโยบายทางการค้า:ภาวะการแข่งขันกัน

สิ่งจำเป็นในตลาดโลกเสรีที่จะทำให้สามารถแข่งขันอย่างได้ผลกับผู้ผลิตชาติอื่นทั้งหลายในการผลิตและการขายสินค้าและบริการ แนวความคิดในเรื่องภาวะการแข่งขันนี้ มีสมติฐานว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติ อย่างเช่น ภาวะการว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ และภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า เป็นต้น สามารถดำเนินการแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มผลิตภาพให้มากๆ เมื่อชาติประสบกับปัญหาการเสียเปรียบดุลการค้ามากๆและเงินตราของชาติก็พลอยสูญค่าแลกเปลี่ยนไปนั้น ผู้ให้การสนับสนุนหลักการภาวะการแข่งขันกันนี้ มีข้อสมมติฐานว่า เศรษฐกิจของชาติจะต้องได้รับการปรับปรุงทางสถานะการแข่งขันขึ้นมา ซึ่งข้อนี้หมายถึงว่า ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคแรงงาน ก็จะต้องร่วมมือกันดำเนินนโยบายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของชาติตนเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ

ความสำคัญ ภาวะการแข่งขันนี้หากนำไปใช้ในสหรัฐอเมริกา ก็หมายถึงความจำเป็นสำหรับสหรัฐอเมริกาที่จะต้องพัฒนาสถานะทางการค้าและการลงทุนให้เอื้ออำนวยมากกว่าเก่าในเศรษฐกิจของโลก ส่วนชาติอื่นก็หมายถึงว่าจะต้องมีการต่อสู้ชิงดีชิงเด่นเพื่อผลิตให้มาก ขายให้มาก และให้ได้กำไรมากกว่าคู่แข่ง ประเทศที่มีภาวะแข่งขันสูงมากที่สุดในทศวรรษปี 1980 ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ ชาติที่เคยเป็น”เต้ย”ทางด้านการค้าและการคลังนั้น ได้พบว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ คือ ได้เกิดการผลิกผันจากชาติที่เคยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลกมาเป็นชาติลูกหนี้รายใหญ่ของโลกไปเสียก็มี สหรัฐอเมริกาได้พยายามแก้ไขปัญหาการเสียเปรียบดุลการค้าที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและปัญหาการกู้ยืมระยะยาวที่ไม่มีกำหนดด้วยวิธีการลดค่าเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯมีราคาถูกลงทำให้สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างชาตินั้นก็มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมและเป็นสินค้าที่เข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯน้อยลง แต่ด้วยเหตุที่การแก้ไขโดยวิธีนี้ไม่ก่อผลเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทันตาเห็น ก็จึงได้มีการรณรงค์ให้มีการเพิ่มภาวะการแข่งขันนี้โดยการเพิ่มผลิตภาพ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้น ชาติส่วนใหญ่มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีภาวะการแข่งขันนี้ให้มากยิ่งขึ้น

Trade Policy : Directed Trade

นโยบายทางการค้า : การค้าที่มีการชี้นำ

การกำหนดนโยบายการค้าโดยภาครัฐบาล เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือความมั่นคงของรัฐ การค้าที่มีการชี้นำนี้มีข้อแตกต่างจากการค้าโดยเสรี คือ การค้าโดยเสรีจะยอมให้อุปทานและอุปสงค์ของตลาดเป็นตัวกำหนดกระแสของการค้า


ความสำคัญ ทุกรัฐล้วนแต่ชี้นำการค้าของตนทั้งนั้น ซึ่งก็มีตั้งแต่เข้าแทรกแซงพอสัณฐานประมาณของรัฐเสรีประชาธิปไตย ไปจนถึงระดับที่มีการเข้าควบคุมเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของชาติคอมมิวนิสต์และชาติที่ดำเนินการค้าเสียเอง รัฐอาจจะชี้นำการค้าของตนเพื่อสนับสนุนระบบพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างความผูกพันทางด้านอาณานิคม เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ หรือเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนเทคนิคที่นำมาใช้ใช้ชี้นำการค้ามีดังนี้ คือ (1) ข้อตกลงให้สิทธิพิเศษทางการค้า (2) การคว่ำบาตรและการห้ามสินค้า (3) การแลกเปลี่ยนสินค้า (4) การควบคุมเงินตรา (5) กำหนดภาษีศุลกากรและกำหนดโควตา (6) การให้เครดิตพิเศษ (7) การควบคุมราคา และ(8) ข้อตกลงการค้าทวิภาคี นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชาติต่างๆส่วนใหญ่ได้มีความพยายามร่วมกันผ่านทางทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการค้าเสรีโดยการจัดตั้งระบบการค้าและการชำระเงินแบบพหุภาคีขึ้นมา

Trade Policy : Export Control

นโยบายทางการค้า : การควบคุมการส่งออก

การที่ภาครัฐบาลทำการจำกัดการขายวัสดุ โภคภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ หรืออาวุธบางชนิด ในการค้าต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อาวุธบางชนิดอาจจะถูกสั่งห้ามมิให้ขายแก่ต่างประเทศโดยวิธีการควบคุมการส่งออกนี้ รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองโดยทั่วไปจะห้ามการส่งออก (1) อุปกรณ์นิวเคลียร์ (2) แร่ยูเรเนียมหรือพลูโตเนียมเกรดที่จะนำไปสร้างอาวุธ และ(3) สารสนเทศทางเทคนิคนิวเคลียร์ ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้นรัฐก็อาจจะจำกัดการส่งออกวัสดุหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ขาดแคลนในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ขาดแคลนมากๆ นับเป็นเวลาช้านานมาแล้วที่สหรัฐพยายามจะให้ประเทศที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์เกิดความอ่อนแอผ่านทางรัฐบัญญัติชื่อ “แบ็ตเทิลแอ็คท์” (รัฐบัญญัติควบคุมความช่วยเหลือด้านกลาโหมระหว่างกันปี ค.ศ. 1951) ซึ่งกำหนดห้ามทำการค้าวัสดุทางยุทธศาสตร์กับ”ชาติใดๆที่จะคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา” ภายใต้รัฐบัญญัติ”การบริหารการส่งออก ค.ศ. 1979” สหรัฐอเมริกาได้ขยายการควบคุมไปถึงการส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์ทั้งที่จะเป็นประโยชน์แก่พลเรือนและแก่ทหาร การควบคุมการส่งออกที่ใช้เพื่อจำกัดหรือห้ามลำเลียงออกจากรัฐดังกล่าวเป็นมาตรการช่วยเสริมมาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนที่กำหนดให้จำกัดหรือห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์บางชนิดโดยเฉพาอย่างยิ่งจากประเทศที่รัฐทำการค้าเสียเองทั้งหลาย

ความสำคัญ การควบคุมการส่งออกเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ชาติทั้งหลายนำมาใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติในด้านการค้าของตน ผู้ที่ให้การสนับสนุนทางการค้าเสรีต่างๆ ไม่อยากให้มีการควบคุมการส่งออกนี้โดยกล่าวว่าจะไปขัดขวางกระแสของสินค้าโดยเสรีโดยไม่จำเป็น พวกเขาสนับสนุนให้เลิกการควบคุมนี้เสียแล้วดำเนินการสร้างเงื่อนไขให้มีการค้าเสรีขึ้นมาแทน ในสหรัฐอเมริกาอำนาจการควบคุมการส่งออกนี้รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯได้มอบให้แก่ประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจในเรื่องนี้กว้างขวางมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปใช้กับรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย ในช่วงทศวรรษปี 1980 สิ่งของส่งออกต่างๆที่อยู่ในความควบคุมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แก่ (1) วัสดุทางนิวเคลียร์ (2) อุปกรณ์ควบคุมและดักดับอาชญากร (3) คอมพิวเตอร์ (4) เครื่องบิน (5)แทรกเตอร์ขนาดใหญ่ และ (6) อุปกรณ์ปิโตรเลียม นอกจากนี้แล้ว ประธานาธิบดีก็ยังได้รับมอบอำนาจให้ในการสั่งห้ามการส่งออกทุอย่างไปยังเกาหลีเหนือ เวียดนาม กัมพูชา และคิวบา ยกเว้นสินค้าที่ไม่มีอันตราย เป็นต้นว่า วัสดุที่เกี่ยวกับการศึกษา ของกำนัล และการท่องเที่ยว แต่จากประสบการณืในการนำเอารัฐบัญญัติแบตเทิลแอ็คนี้มาใช้เป็นเวลาหลายปีได้พบว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ แต่ทว่าในช่วงต่อมาข้างฝ่ายพันธมิตรของสหรัฐฯได้ชิงโอกาสนี้ไปเป็นของตนโดยได้ส่งผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ไปขายให้แก่รัฐคอมมิวนิสต์ต่างๆโดยเสรี ด้วยเหตุนี้ภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ก็จึงได้กดดันให้รัฐสภาคองเกรสทำการเปลี่ยนแปลงรัฐบัญญัติฉบับนี้ให้สหรัฐฯ สามารถแข่งขันกับฝ่ายยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่นในตลาดยุโรปตะวันออกและในตลาดเอเชียได้

Trade Policy : Free Trade

นโยบายทางการค้า : การค้าเสรี

กระแสการดำเนินการค้าที่อิงอาศัยอุปทานและอุปสงค์ โดยปลอดพ้นจากการกำกับควบคุมและกิจกรรมให้การสนับสนุนของภาครัฐบาล การค้าเสรีได้รับการสนับสนุนจากอาดัม สมิธ ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “เวลท์ ออฟ เนชั่นส์” (แปลว่า ความมั่งคั่งแห่งประชาชาติทั้งหลาย) (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1776) ที่ส่งเสริมให้มีการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ โดยอิงอาศัยหลักความชำนาญเฉพาะทางของแต่ละชาติในการผลิต ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภาพและมาตรฐานการครองชีพในทุกประเทศขึ้นมาได้ ข้อได้เปรียบสัมบูรณ์ที่ตั้งเป็นข้อสมมติฐานไว้โดยอาดัม สมิธ ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนแปลงโดยทฤษฎีข้อได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของเดวิด ริคาร์โด โดยที่ทฤษฎีของริคาร์โดบอกว่า ประเทศทั้งหลายจะไม่มีข้อได้เปรียบอย่างสัมบูรณ์ในการผลิตสินค้าใดๆและเพราะฉะนั้นก็จะต้องให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในผลผลิตที่พวกตนสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิผลเมื่อเทียบกับผลผลิตอย่างอื่น และก็ให้ทำการค้าขายผลิตผลเหล่านี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลิตผลที่พวกตนต้องการชนิดอื่นๆ ภายใต้ลัทธิทุนนิยมนั้นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเสรีนิยมหรือปล่อยให้เป็นไปโดยเสรีในเรื่องของการค้าทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ ทั้งนี้โดยปล่อยให้ตลาดเป็นตัวกำหนดการกระทำทางเศรษฐกิจ

ความสำคัญ การค้าเสรีได้รับการพัฒนาทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อใช้ต่อต้านนโยบายของลัทธิพาณิชยนิยมที่ยึดหลักให้รัฐเข้าควบคุมกิจการค้าโดยเคร่งครัดนั้น การค้าเสรีนี้ได้เฟื่องฟูขึ้นมาในหลายประเทศในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ต่อถึงช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 แต่พอถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้ดำเนินนโยบายลัทธิปกป้อง(กีดกันสินค้าเข้าด้วยการใช้มาตรการต่างๆ) ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมานั้น มีลักษณะเป็นความพยายามร่วมกันที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆที่จัดตั้งกันขึ้นมาในช่วงที่เกิดลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจในทศวรรษปี 1920 ถึงทศวรรษปี 1930 ถึงแม้ว่าการค้าเสรีนี้จะไม่ถูกโจมตีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตนั้นก็ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องเมื่อพิจารณาในแง่การเมืองและการทหาร และผลที่จะได้จากการค้าเสรีนี้ก็เป็นผลในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลของประเทศต่างๆจึงได้ทำการโต้แย้งทฤษฎีการค้าเสรีนี้ อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา มีแนวโน้มไปในทางให้มีการค้าเสรีในหมู่ชาติส่วนใหญ่ กับมีแนวโน้มไปในทางมีการค้าเสรีในหมู่สมาชิกของตลาดร่วมต่างๆที่ได้จัดตั้งกันขึ้นมาโดยกลุ่มชาติต่างๆในระดับภูมิภาค ในช่วงปลายทศวรรษปี 1980 สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาการเสียบเปรียบดุลการค้าอย่างมหาศาล และได้ดำเนินมาตรการตามลัทธิปกป้อง ก็จึงได้เกิดเป็นสงครามเศรษฐกิจขึ้นมา ทำให้โลกต้องถอยห่างจากอุดมคติของการค้าเสรีออกไปอีก

Elephantstay,Thailand,

Elephantstay,Thailand,
Live,work and play with elephants