องค์การเพื่อการพัฒนา : ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา(ไอบีอาร์ดี)
ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติที่ก่อตั้งโดยข้อตกลงเบรตตันวูดส์ปี ค.ศ. 1944 เพื่อช่วยเหลือชาติต่างๆให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่ประเทศด้อยพัฒนา ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธนาคารโลก มีสมาชิกเมื่อปี ค.ศ. 1987 จำนวน 151 ชาติ มีผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือ ประธานธนาคาร กับมีคณะกรรมการผู้ว่าการคณะหนึ่งที่จะมาประชุมกันทุกปีเพื่อกำหนดนโยบายขั้นพื้นฐาน ส่วนการตัดสินใจให้เงินกู้นั้นจะกระทำโดยคณะกรรมการฝ่ายบริหารที่จะมาประชุมกันทุกเดือนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารโลก โดยการตกลงใจนั้นจะใช้ระบบลงคะแนนเสียงในแบบชั่งน้ำหนัก กล่าวคือ ตามจำนวนหุ้นเงินทุนที่กรรมการแต่ละชาติมีอยู่นั้น เมื่อปี ค.ศ. 1980 เงินทุนของธนาคารโลกมีจำนวนกว่า 3 หมื่นห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่สหรัฐอเมริกาถือหุ้นอยู่กว่าหนึ่งในห้า สต๊อกของหุ้นที่มีอยู่ในธนาคารโลกแยกออกได้เป็น 2 ส่วน คือ (1) เงินประกันเงินกู้ที่ธนาคารสามารถกู้ได้จากแหล่งเงินกู้ภาคเอกชนในตลาดเงินทุนของโลก(90 เปอร์เซ็นต์) และ (2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลของรัฐสมาชิกจ่ายแก่กองทุนเงินกู้(10 เปอร์เซ็นต์) เมื่อได้ก่อตั้งบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(ไอเอฟซี) เมื่อปี ค.ศ. 1956 เพื่อให้มาทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านการลงทุนของภาคเอกชน และก่อตั้งสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ(ไอดีเอ) เป็นองค์การขึ้นตรงต่อธนาคารโลกเมื่อปี ค.ศ. 1960 เพื่อให้ปล่อยเงินกู้ระยะยาวและปลอดภาษี ขึ้นมาแล้วนั้น องค์การปล่อยเงินกู้สาธารณะทั้งสามแห่งนี้ก็ได้ทำงานร่วมกันเป็น กลุ่มธนาคารโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลของรัฐที่เป็นสมาชิกเท่านั้น ภาคเอกชนอาจกู้ได้แต่ต้องให้รัฐสมาชิกค้ำประกัน เงินกู้สำหรับใช้ในโครงการพัฒนาที่สำคัญส่วนใหญ่จะใช้วิธีกู้ที่เรียกว่า คอนโซเตียม ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ให้องค์การปล่อยเงินกู้ต่างๆทั้งในระดับนานาชาติและในระดับชาติร่วมมือกับธนาคารเอกชนให้การสนับสนุนการเงินแก่โครงการต่างๆ
ความสำคัญ บทบาทในระยะเริ่มแรกของธนาคารโลกในการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูดินแดนต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนั้นได้เปลี่ยนไปเมื่อปี ค.ศ. 1949 โดยให้ไปมีบทบาทใหม่เป็นการปล่อยเงินกู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1980 ธนาคารโลกได้ปล่อยเงินกู้จำนวน 1, 700 รายการ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเกือบหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ประเทศหรือดินแดนต่างๆ(ที่ยังไม่เป็นประเทศ) เกือบ 100 แห่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1981-1985 ธนาคารโลกได้ปล่อยเงินกู้มีมูลค่ารวมถึง 53.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลักษณะเงินกู้มีความหลากหลายโดยมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับดอกเบี้ยในตลาดเงินทุนของภาคเอกชน ส่วนระยะเวลาในการจ่ายคืนเงินกู้มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีไปจนถึง 35 ปี เงินที่กู้ไปได้ถูกนำไปใช้ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการชลประทาน โครงการเหมืองแร่ โครงการทางการเกษตร โครงการขนส่งและการคมนาคม และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วไป นอกจากนี้แล้ว ธนาคารโลกก็ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค เพื่อเป็นการเตรียมการเบื้องต้นเอาไว้ก่อนจะได้นำเงินกู้ไปใช้ในทางที่จะเป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้กู้ได้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิผลเมื่อได้รับเงินกู้มาแล้ว ถึงแม้ว่าธนาคารโลกจะเพิ่มทวีปฏิบัติการปล่อยเงินกู้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการทางด้านเงินทุนของประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆได้ทัน อุปสรรคสำคัญ ก็คือ เมื่อรัฐต่างๆกู้เงินไปแล้วไม่สามารถจ่ายเงินคืนในรูปของเงินตราสกุลแข็งได้ เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้มีพันธะทางหนี้หนักมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เงินกู้ใหม่ที่ปล่อยออกไปเป็นเงินกู้ของธนาคารโลกและของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยเป็นการปล่อยเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤติการณ์หนี้สินในกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่ทว่าก่อนจะปล่อยเงินกู้ใหม่ให้นั้นจะมีเงื่อนไขต่างๆ เป็นต้นว่า ประเทศผู้กู้จะต้องเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐโดยทำการปฏิรูปให้เป็นเศรษฐกิจแบบการตลาด และจะต้องดำเนินโครงการประหยัดอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
No comments:
Post a Comment