องค์การเพื่อการพัฒนา : การประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(อังค์ถัด)
องค์กรหนึ่งของสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนานโยบายการค้าโลก อังค์ถัดเริ่มก่อกำเนิดเมื่อคราวมีการประชุมการค้าพิเศษที่รัฐต่างๆจำนวน 122 รัฐเข้าร่วมประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1964 และสมัชชาใหญ่ได้กำหนดให้อังค์ถัดมีสถานภาพถาวรในปีเดียวกันนี้เอง รัฐด้อยพัฒนาทั้งหลายได้ช่วยกันผลักดันให้มีการก่อตั้งอังค์ถัดขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นที่ประชุมที่พวกตนสามารถใช้กดดันรัฐที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมให้ลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆให้พวกตนสามารถขายสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ขั้นปฐมของพวกตนได้ วัตถุประสงค์หลักของประเทศด้อยพัฒนาที่กระทำเช่นนี้ก็เพื่อจะเพิ่มพูนรายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปใช้สนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ ปัจจุบันอังค์ถัดมีสมาชิกเกือบ 160 ชาติ มีการประชุมเต็มคณะในทุก 3-4 ปีเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานนโยบายการค้าและการพัฒนาระหว่างกัน ในการจัดองค์กรภายในมีคณะกรรมการการค้าและการพัฒนาทำหน้าที่ริเริ่มข้อเสนอนโยบายในระหว่างสมัยการประชุมของอังค์ถัด และมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ความสำคัญ ที่สามารถจัดตั้งการประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้สำเร็จครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นชัยชนะทางด้านการเมืองแต่ยังไม่ใช่เป็นชัยชนะทางด้านเศรษฐกิจสำหรับรัฐด้อยพัฒนาทั้งหลาย ในความพยายามที่จะแสวงหาเงินทุนโดยการเพิ่มพูนการค้านี้ ข้างฝ่ายรัฐที่เจริญทางอุตสาหกรรมก็ได้ต่อต้านการจัดตั้งอังค์ถัดนี้โดยบอกว่าบทบาทของอังค์ถัดจะไปเหมือนกับบทบาทของแกตต์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม “แกนนำจี –77” เมื่อปี 1964 แต่กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาจะมีชัยชนะทางด้านเศรษฐกิจได้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐที่พัฒนาแล้วจะตกลงตามวัตถุประสงค์ของอังค์ถัดที่ให้มีการสร้างเสถียรภาพในราคาสินค้าประเภทโภคภัณฑ์และขยายหลักปฏิบัติว่าด้วยชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งให้แก่รัฐพัฒนาโดยไม่ขอสิ่งใดเป็นการตอบแทนได้หรือไม่ เมื่อเร็วๆนี้ประเทศในกลุ่มโลกที่สามได้ดำเนินการรณรงค์อย่างแข็งขันในที่ประชุมของอังค์ถัดเพื่อให้มีการก่อตั้ง ระเบียบทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่(เอ็นไออีโอ) ให้มาทำหน้าที่จัดสรรความมั่งคั่งของโลกเสียใหม่
No comments:
Post a Comment