บูรณาการทางเศรษฐกิจ : แผนมาร์แชลล์
ข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายจอร์จ ซี. มาร์แชลล์ เมื่อปี ค.ศ. 1947 ให้สหรัฐฯดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังพินาศจากผลของสงครามในยุโรปตะวันตก รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯได้ยอมรับแผนมาร์แชลล์นี้ในปี ค.ศ. 1948 เมื่อได้จัดตั้งโครงการบูรณะยุโรป(อีอาร์พี) เพื่อจัดหาเงินทุนแบบให้เปล่าและเงินกู้ให้แก่ชาติต่างๆในยุโรปที่ตกลงใจเข้ามาร่วมโครงการ และจากการกระตุ้นของสหรัฐฯ 16 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการก็ได้จัดตั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป(โออีอีซี) อันเป็นองค์การในระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในโครงการฟื้นฟูบูรณะ และเพื่อร่วมกันร่างรายการของทรัพยากรและความต้องการต่างๆให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สหภาพโซเวียตและประเทศที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์อื่นๆในยุโรปตะวันออก ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมในโครงการนี้เหมือนกันแต่ทุกประเทศได้ปฏิเสธคำเชิญหมด ในระหว่างปี ค.ศ. 1948-1952 สหรัฐฯ ได้จัดหาเงินแบบให้เปล่าและเงินกู้มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ภายใต้โครงการแผนมาร์แชลล์นี้
ความสำคัญ จากความสำเร็จของแผนมาร์แชลล์ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สองโครงการแรกนี้เอง ได้ช่วยไปกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯและรัฐสภาคองเกรสให้ใช้การช่วยเหลือต่างประเทศเป็นยุทธวิธีสำหรับการต่อสู้เพื่อสร้างความปั่นปวนรวนเรให้แก่เป้าหมายของคอมมิวนิสต์ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย เมื่อถึงปี ค.ศ. 1952 แผนมาร์แชลล์นี้ได้ไปช่วยจุดประกายการฟื้นฟูที่สำคัญให้ปะทุขึ้นในทวีปยุโรปไปส่งผลให้ประเทศต่างๆที่เข้าร่วมโครงการได้ฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนสงครามไปตามๆกัน ความพยายามของสหรัฐฯภายใต้แผนมาร์แชลล์ที่จะส่งเสริมการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจในยุโรปให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ การมีตลาดร่วมแต่เพียงแห่งเดียวสำหรับทุกประเทศในยุโรปตะวันตก ก็ได้คืบคลานใกล้จะบรรลุเป้าหมายเข้าไปทุกที ทั้งนี้โดยได้มีการขยายสมาชิกภาพของประชาคมยุโรปไปยังอีก 10 ชาติและก็ยังมีชาติอื่นๆอีกหลายชาติต้องการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกอยู่เรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1961 องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) ก็ได้เข้ามาแทนที่องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป(โออีอีซี) ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้ก็ได้สืบสานงานประสานความร่วมมือให้เป็นหนึ่งเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจจากชาติสมาชิกทั้ง 24 ชาติโดยผ่านทางโครงสร้างการให้คำปรึกษา โดยที่การตัดสินใจขององค์การฯแม้จะมีอิทธิพลมากแต่ก็ไม่มีผลผูกพันให้ชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตาม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมโดยแผนมาร์แชลล์ได้รับการหนุนหลังมากขึ้นในปี ค.ศ. 1949 จากการใช้แนวทางการทหารและความมั่นคงเพื่อสร้างบูรณาการของประชาคมแอตแลนติกเหนือที่มีอยู่ในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและองค์การนาโต
No comments:
Post a Comment