นโยบายทางการค้า : การควบคุมการส่งออก
การที่ภาครัฐบาลทำการจำกัดการขายวัสดุ โภคภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ หรืออาวุธบางชนิด ในการค้าต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อาวุธบางชนิดอาจจะถูกสั่งห้ามมิให้ขายแก่ต่างประเทศโดยวิธีการควบคุมการส่งออกนี้ รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองโดยทั่วไปจะห้ามการส่งออก (1) อุปกรณ์นิวเคลียร์ (2) แร่ยูเรเนียมหรือพลูโตเนียมเกรดที่จะนำไปสร้างอาวุธ และ(3) สารสนเทศทางเทคนิคนิวเคลียร์ ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้นรัฐก็อาจจะจำกัดการส่งออกวัสดุหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ขาดแคลนในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ขาดแคลนมากๆ นับเป็นเวลาช้านานมาแล้วที่สหรัฐพยายามจะให้ประเทศที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์เกิดความอ่อนแอผ่านทางรัฐบัญญัติชื่อ “แบ็ตเทิลแอ็คท์” (รัฐบัญญัติควบคุมความช่วยเหลือด้านกลาโหมระหว่างกันปี ค.ศ. 1951) ซึ่งกำหนดห้ามทำการค้าวัสดุทางยุทธศาสตร์กับ”ชาติใดๆที่จะคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา” ภายใต้รัฐบัญญัติ”การบริหารการส่งออก ค.ศ. 1979” สหรัฐอเมริกาได้ขยายการควบคุมไปถึงการส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์ทั้งที่จะเป็นประโยชน์แก่พลเรือนและแก่ทหาร การควบคุมการส่งออกที่ใช้เพื่อจำกัดหรือห้ามลำเลียงออกจากรัฐดังกล่าวเป็นมาตรการช่วยเสริมมาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนที่กำหนดให้จำกัดหรือห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์บางชนิดโดยเฉพาอย่างยิ่งจากประเทศที่รัฐทำการค้าเสียเองทั้งหลาย
ความสำคัญ การควบคุมการส่งออกเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ชาติทั้งหลายนำมาใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติในด้านการค้าของตน ผู้ที่ให้การสนับสนุนทางการค้าเสรีต่างๆ ไม่อยากให้มีการควบคุมการส่งออกนี้โดยกล่าวว่าจะไปขัดขวางกระแสของสินค้าโดยเสรีโดยไม่จำเป็น พวกเขาสนับสนุนให้เลิกการควบคุมนี้เสียแล้วดำเนินการสร้างเงื่อนไขให้มีการค้าเสรีขึ้นมาแทน ในสหรัฐอเมริกาอำนาจการควบคุมการส่งออกนี้รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯได้มอบให้แก่ประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจในเรื่องนี้กว้างขวางมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปใช้กับรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย ในช่วงทศวรรษปี 1980 สิ่งของส่งออกต่างๆที่อยู่ในความควบคุมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แก่ (1) วัสดุทางนิวเคลียร์ (2) อุปกรณ์ควบคุมและดักดับอาชญากร (3) คอมพิวเตอร์ (4) เครื่องบิน (5)แทรกเตอร์ขนาดใหญ่ และ (6) อุปกรณ์ปิโตรเลียม นอกจากนี้แล้ว ประธานาธิบดีก็ยังได้รับมอบอำนาจให้ในการสั่งห้ามการส่งออกทุอย่างไปยังเกาหลีเหนือ เวียดนาม กัมพูชา และคิวบา ยกเว้นสินค้าที่ไม่มีอันตราย เป็นต้นว่า วัสดุที่เกี่ยวกับการศึกษา ของกำนัล และการท่องเที่ยว แต่จากประสบการณืในการนำเอารัฐบัญญัติแบตเทิลแอ็คนี้มาใช้เป็นเวลาหลายปีได้พบว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ แต่ทว่าในช่วงต่อมาข้างฝ่ายพันธมิตรของสหรัฐฯได้ชิงโอกาสนี้ไปเป็นของตนโดยได้ส่งผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ไปขายให้แก่รัฐคอมมิวนิสต์ต่างๆโดยเสรี ด้วยเหตุนี้ภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ก็จึงได้กดดันให้รัฐสภาคองเกรสทำการเปลี่ยนแปลงรัฐบัญญัติฉบับนี้ให้สหรัฐฯ สามารถแข่งขันกับฝ่ายยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่นในตลาดยุโรปตะวันออกและในตลาดเอเชียได้
No comments:
Post a Comment