เครื่องมือของนโยบายทางการค้า : การค้าแบบทวิภาคี
ข้อตกลงทำความเข้าใจกันระหว่างสองรัฐเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้าและในด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ ข้อตกลงทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีอาจจะออกมาในรูปของข้อตกลงหักบัญชีเงินฝากกัน โดยทำการชำระเงินสำหรับสินค้าสั่งเข้าและสินค้าส่งออกจะจ่ายกันผ่านทางบัญชีของธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวเท่านั้น หรืออาจจะออกมาในแบบของข้อตกลงชำระเงินกันโดยวิธีทำธรุกรรมทางการเงินทุกอย่างระหว่างสองประเทศก็ได้ ในรูปแบบที่ธรรมดาๆนั้นข้อตกลงแบบทวิภาคีอาจมีการกำหนดให้ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนสินค้ากัน คือ เป็นแบบที่สองประเทศแลกเปลี่ยนสินค้าตามปริมาณที่ได้ตกลงกันโดยที่ไม่มีการชำระเงินกันในรูปของการแลกเปลี่ยนเงินตราแต่อย่างใด การค้าแบบทวิภาคีในทางเศรษฐกิจที่นิยมนำมาใช้ในทางการค้าอย่างดาษดื่น ก็คือ ข้อตกลงที่กำหนดให้แต่ละฝ่ายลดภาษีศุลกากรหรืออุปสรรคทางการค้าอื่นๆ
ความสำคัญ ข้อตกลงแบบทวิภาคีมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างชาติในช่วงที่เกิดลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ข้อตกลงแบบทวิภาคีนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์สามารถนำมาใช้เพื่อขจัดปัญหาเกี่ยวกับนโยบายวางข้อจำกัดของชาติต่างๆได้ กล่าวคือ การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา การตั้งกำแพงภาษีศุลกากร การกำหนดโควตา และก็ยังได้มีการนำไปใช้เพื่อชี้นำการค้าเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ข้อตกลงแบบพหุภาคีก็มีแนวโน้มจะเป็นข้อตกลงแบบมีอคติ กล่าวคือ มีลักษณะลำเอียงต่อชาติอื่นๆ และมักจะไปยั่วยุให้เกิดการตอบโต้แก้เผ็ดจากชาติอื่นได้ด้วย แต่การใส่ข้อกำหนดว่าด้วยชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งลงในข้อตกลงแบบทวิภาคี อย่างที่กระทำกันในกรอบของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) ก็จะช่วยขจัดแรงกระทบที่เกิดจากอคตินั้นได้ เมื่อได้ดำเนินการโดยวิธีนี้แล้ว ข้อตกลงแบบทวิภาคีก็จะเอื้อประโยชน์ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของระบบการค้าแบบพหุภาคีที่มีเสรีมากยิ่งขึ้น ยิ่งกว่าจะเป็นการส่งเสริมอคติทางการค้า รัฐที่มีการปกกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ได้ใช้ข้อตกลงแบบทวิภาคีนี้ในการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยประเทศคอมมิวนิสต์เหล่านี้ก็จะให้เครดิตทางการค้าระยะยาวในรูปของความช่วยเหลือทางเทคนิค สินค้าประเภททุน และอุปกรณ์ทางการทหาร ส่วนรัฐที่รับความช่วยเหลือก็จะจ่ายคืนในรูปของสินค้าประเภทโภคภัณฑ์บรรทุกลงเรือขนไปให้ประเทศผู้ให้เครดิตในระยะยาว
No comments:
Post a Comment