นโยบายทางการค้า : ภาวะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ
หลักการนำสิ่งหนึ่งมาแลกกับอีกสิ่งหนึ่งในการต่อรองระหว่างประเทศเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากร ภาวะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันเป็นรากฐานสำหรับใช้เจรจาขอผ่อนปรนทางด้านการค้าซึ่งกันและกันก็จริง แต่ก็สามารถนำมาใช้ตอบโต้ต่อการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรโดยชาติอื่นได้ด้วย อัตราภาษีศุลกากรอาจจะให้เพิ่มขึ้นโดยการกระทำของฝ่ายเดียวได้ แต่จะให้ลดลงนั้นจะกระทำโดยฝ่ายเดียวโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งยอมผ่อนปรนโดยไม่มีสิ่งใดมาแลกเปลี่ยนนั้นแทบจะไม่มี
ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์นั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติทางการพาณิชย์เพื่อใช้ตอบโต้อีกฝ่ายหนึ่งนี้ ผู้นำมาเสนอในปี ค.ศ. 1890 คือ นายแมคคินลี แทริฟฟ์ เป็นหลักการให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีให้สามารถเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรได้หากประเทศอื่นเก็บภาษีสินค้าขาออกของสหรัฐฯในอัตราที่ไม่สมเหตุสมผล ภาวะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับใช้เจรจาในแบบทวิภาคีโดยตรงเพื่อลดอุปสรรคทางภาษีศุลกากรนี้ ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางพร้อมๆกับที่ได้มีการจัดตั้งโครงการข้อตกลงทางการค้าแบบถ้อยทีถ้อยปฎฏิบัติของสหรัฐฯเมื่อปี ค.ศ. 1934 ในช่วงเวลากว่า 30 ปีต่อมาก็ได้มีการบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่อิงอาศัยหลักการผ่อนปรนแบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันนี้นับร้อยฉบับเลยทีเดีว ซึ่งข้อตกลงทางการค้าแต่ละฉบับก็จะมีข้อกำหนดว่าด้วยชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งแทรกอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการขยายหลักการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันนี้ให้ครอบคลุมถึงชาติอื่นๆทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ การลดภาษีอากรในรูปแบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันนี้มีการขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา โดยอาศัยการต่อรองในแบบพหุภาคีที่สนับสนุนโดยกลไกของแกตต์ การเจรจา ”รอบเคนเนดี้” ของแกตต์ที่ดำเนินการระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1963 ถึง ค.ศ. 1967 และการเจรจา”รอบโตเกียว” ของแกตต์ที่ดำเนินในช่วงปี ค.ศ. 1973 ถึงปี ค.ศ. 1979 ได้ส่งผลให้มีการขจัดภาษีศุลกากรที่เป็นตัวอุปสรรคสำคัญทางด้านการค้าได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ประเทศในกลุ่มโลกที่สามยังพยายามหาตลาดที่เอื้อประโยชน์แก่ตนมากๆในประเทศที่เจริญแล้วโดยที่ฝ่ายตนไม่ยอมลดภาษีศุลกากรเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นวิธีดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนได้
No comments:
Post a Comment