องค์การเพื่อการพัฒนา : บรรษัทหลายชนชาติ
องค์การทางธุรกิจที่มีฐานแม่ข่ายอยู่ที่ประเทศหนึ่งแต่ดำเนินกิจการผ่านทางลูกข่ายที่ไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง บรรษัทหลายชนชาติซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บรรษัทข้ามชาติ นี้จะขยายกิจการไปเรื่อย โดยชิงความได้เปรียบจาก”การประหยัดจากขนาดการผลิต”(กล่าวคือ ลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้จากผลของการเจริญเติบโตและการเพิ่มระดับของการผลิต) ในบางครั้งบริษัทหลายชนชาติจะได้เปรียบในแง่ที่ว่าในตลาดจะมีผู้ขายน้อยรายหรือเป็นตลาดแบบกึ่งผูกขาด
ความสำคัญ บรรษัทหลายชนชาติได้ไปเปิดกิจการอยู่ในประเทศต่างๆในกลุ่มโลกที่สาม ภายใต้สภาวะที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน คือ เป็นที่ซึ่งความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมมีมากกว่าความต้องการโภคภัณฑ์ขั้นปฐม และเป็นที่ซึ่งธุรกิจขนาดยักษ์หลายแห่งสามารถกำหนดราคาสินค้าและควบคุมตลาดได้ ประเทศในกลุ่มโลกที่สามได้พยายามจะเข้าควบคุมบทบาทที่เพิ่มขึ้นมามากของบรรษัทหลายชนชาติเหล่านี้ จึงได้ช่วยกันผลักดันในสหประชาชาตินับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 เพื่อให้มี “จรรยาบรรณระหว่างประเทศสำหรับบรรษัทข้ามชาติ” ความต้องการให้มีจรรยาบรรณนี้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปี ค.ศ. 1984 อันเป็นปีที่คนเกือบ 2,000 คนได้เสียชีวิตที่เมืองโภปาลประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผลมาจากแก๊สเกิดการรั่วไหลในโรงงานของบริษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกาชื่อ ยูเนียน คาร์ไบน์ สาระสำคัญของจรรยาบรรณฉบับนี้กล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้ คือ (1) พฤติกรรมทั่วไปของบรรษัทหลายชนชาติ (2) ความปลอดภัยของคนงาน (3) กรรมสิทธิ์และการควบคุม (4) การเก็บภาษี (5) การตั้งราคาโอน และ (6) ผลกระทบจากการปฏิบัติการของบรรษัทหลายชนชาติต่อดุลการชำระเงินของประเทศเจ้าบ้าน ถึงแม้ว่าชาติตะวันตกจะมีส่วนร่วมในการยกร่างจรรยาบรรณดังกล่าวแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ให้มีการจำกัดกิจกรรมของบรรษัทหลายชนชาติในเศรษฐกิจของโลก บรรษัทหลายชนชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะเข้าไปแทรกแซงในกิจกรรมทางการเมืองของประเทศในกลุ่มโลกที่สาม แต่ที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือ บรรษัทหลายชนชาติบางแห่งได้ตกเป็นเครื่องมือในการทำการล้มล้างระบอบการปกครองที่ตนไม่ชอบหรือระบอบการปกครองของฝ่ายซ้าย หรือไม่เช่นนั้นก็ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่เป็นมิตรกับตนอย่างเต็มที่
No comments:
Post a Comment