บูรณาการทางเศรษฐกิจ : สหภาพศุลกากร
ข้อตกลงในหมู่รัฐต่างๆที่กำหนดให้มีการค้าเสรีในหมู่สมาชิก และให้มีภาษีศุลกากรภายนอกร่วมกันเพื่อใช้กับสินค้าเข้าจากภายนอกสหภาพ ข้อตกลงในการจัดตั้งสหภาพศุลกากรนี้ตามปกติจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่เก็บภาษีขาเข้าและการแบ่งสรรปันส่วนในหมู่สมาชิกของสหภาพตามสูตรสำเร็จที่ได้ตกลงกันไว้ อัตราภาษีศุลกากรภายนอกที่ใช้ร่วมกันนี้จะอิงพื้นฐานของอัตราเฉลี่ยก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในสหภาพ
ความสำคัญ สหภาพศุลกากรจะส่งเสริมให้มีการขยายการค้าในหมู่สมาชิกโดยใช้วิธีต่อไปนี้ (1)ขจัดอุปสรรคทางการค้า (2) ให้มีความชำนาญเฉพาะทางในการผลิต และ(3) สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้มติมหาชนให้การสนับสนุนการค้าภายในสหภาพ สหภาพศุลกากรจะทำการผลักดันให้ก้าวหน้าต่อไปสู่ความมีเอกภาพทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นโดย (1) ให้มีการเคลื่อนไหวของทุนและแรงงานโดยอิสระ และ (2) ให้มีการกำหนดนโยบายทางการค้าและการเงินร่วมกัน นอกจากนี้แล้ว สหภาพศุลกากรก็ยังจะก้าวต่อไปสู่สหภาพทางการเมือง ยกตัวอย่าง เช่น กรณีของเยอรมนี และของออสเตรีย-ฮังการี ในคริสตศตวรรษที่ 19 สหภาพศุลกากรเบเนลักซ์(ประกอบด้วย เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(สมาชิกแรกเริ่มประกอบด้วยกลุ่ม
เบเนลักซ์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี) ได้ทำหน้าที่เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ค.ศ. 1948 และ 1958 ตามลำดับ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังอีกหลายชาติที่จัดตั้งสหภาพศุลกากรกับดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นของตน ยกตัวอย่าง เช่น ข้อตกลงของสหรัฐอเมริกากับเปอร์โตริโก เป็นต้น
No comments:
Post a Comment