นโยบายทางการเงิน : ความสามารถในการแปลงค่า
การแลกเปลี่ยนเงินตราของชาติท้องถิ่นไปเป็นเงินตราต่างประเทศโดยภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ ได้โดยอิสระโดยที่ไม่มีการควบคุมจากภาครัฐบาล ดังนั้นเงินตราที่สามารถแปลงค่าได้นี้จะไม่มีการควบคุมในเรื่องค่าของเงินหรือจำนวนเงินที่จะแลกเปลี่ยนโดยใช้ระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนภายในชาติแต่อย่างใด
ความสำคัญ ความสามารถในการแปลงค่าเงินตรานี้ส่วนใหญ่แล้วจะถูกจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ (1) เมื่อรัฐบาลต้องการปกป้องชาติจากการเสียสมดุลในดุลการชำระเงิน (2) เมื่อรัฐบาลต้องการคงค่าแลกเปลี่ยนที่สูงหรือต่ำของเงินตราของตนไว้ หรือ (3) เมื่อรัฐบาลพยายามจะใช้การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรานี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือทางการทหารแห่งชาติตน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่กำลังพัฒนา เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลแข็งอื่นๆ มักถูกเก็บเอาไว้เพื่อใช้ซื้อสินค้าประเภททุนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นก็จะเอาเงินตราสกุลชาติตนไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลแข็งๆเพื่อนำไปซื้อสินค้าประเภทผู้บริโภคโดยเสรีไม่ได้ เงินตราของโลกสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 3 ประเภท คือ (1) เงินตราสกุลแข็งของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย (2) เงินตราสกุลอ่อนของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย และ(3) เงินตราที่ถูกควบคุมของประเทศคอมมิวนิสต์และของประเทศที่รัฐดำเนินการค้าโดยตรง เงินตราตามข้อ 1 สามารถแลกเปลี่ยนได้โดยเสรี ส่วนเงินตราในข้อ 2 และข้อ 3 จะแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐบาลเสียก่อน ข้อนี้เองจึงเป็นผลให้มีตลาดมืดค้าเงินตราต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นทางการ
No comments:
Post a Comment