วิเคราะห์นโยบายทางการค้า : อัตราการค้า
ความสัมพันธ์ระหว่างราคาของสินค้าออกที่ประเทศได้รับมากับราคาของสินค้าสั่งเข้าที่ประเทศต้องจ่ายไป อัตราการค้าใช้เป็นเกณฑ์วัดแนวโน้มการได้เปรียบหรือการเสียเปรียบทางการค้าของชาติเมื่อเทียบกับห้วงเวลาก่อนๆได้ ทั้งนี้โดยพิจารณาถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือมูลค่าการแลกเปลี่ยนโภคภัณฑ์ที่ซื้อจากต่างประเทศหรือที่ขายให้แก่ต่างประเทศ หากเอามาเฉลี่ยกันแล้วราคาของสินค้าส่งออกสูงขึ้น หรือราคาของสินค้าสั่งเข้าลดลง หรือเกิดขึ้นทั้งสองกรณีดังกล่าว แสดงว่าอัตราการค้ามีการปรับตัว”ดีขึ้น” แต่ถ้าหากถัวเฉลี่ยแล้วราคาของสินค้าส่งออกลดลง หรือราคาสินค้าสั่งเข้าเพิ่มขึ้น หรือเกิดขึ้นทั้งสองกรณีดังกล่าว แสดงว่า อัตราการค้า”เลวลง”
ความสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มประเทศในโลกที่หนึ่งกับกลุ่มประเทศในโลกที่สามแล้วจะเห็นได้ว่า อัตราการค้าในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมานี้ มีแนวโน้มว่า”ดีขึ้น”สำหรับกรณีของประเทศที่เจริญทางด้านอุตสาหกรรม(โลกที่หนึ่ง) และ”เลวลง” สำหรับชาติที่ด้อยพัฒนา(โลกที่สาม) การที่ราคาของสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมมีมากขึ้น และก็เป็นการสะท้อนให้เห็นด้วยว่า บรรษัทข้ามชาติต่างๆที่เป็นผู้ป้อนรายใหญ่ของสินค้าประเภทนี้สามารถควบคุมราคาและควบคุมตลาดได้ทั้งหมด ส่วนที่ราคาสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ขั้นปฐมมีแนวโน้มราคาตกต่ำลงนั้นก็เป็นผลมาจากการแข่งขันระหว่างผู้ป้อนตลาดที่มีหลากหลายซึ่งได้ผลิตสินค้าประเภทนี้เกินอุปสงค์ ราคาโภคภัณฑ์ขั้นปฐมเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ชาติอุตสาหกรรมทำสงครามกันเท่านั้นเอง ชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายได้พยายามปรับปรุงอัตราการค้าของตนด้วยวิธี(1) ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนสินค้า (2) ใช้ภาษีศุลกากรและเทคนิคการควบคุมการค้าอื่นๆ และ(3) ใช้ข้อตกลงสินค้าโภคภัณฑ์ทำการจำกัดอุปทานและรักษาระดับราคาของโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเอาไว้ การเปลี่ยนแปลงในอัตราการค้าของชาติอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อดุลการชำระเงินของชาติได้
No comments:
Post a Comment