เครื่องมือของนโยบายทางการค้า : รัฐบัญญัติภาษีศุลกากรสมู้ท-ฮอว์ลีปี ค.ศ.1930
รัฐบัญญัติให้เก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงสำหรับสินค้าเข้าทางเกษตรและอุตสาหกรรมที่เข้ามาขายในสหรัฐอเมริกา ที่ร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้ผ่านรัฐสภาคองเกรสได้นั้นเป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่ต้องการจะปกป้องสินค้าที่ผลิตในประเทศของตน ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ซึ่งได้รับการวิงวอนจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำให้ทำการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่กลับยินยอมให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายจนได้ โดยที่ประธานาธิบดีไม่ได้ลงนามทั้งๆที่โดยส่วนตัวแล้วเขาคัดค้านรัฐบัญญัติฉบับนี้
ความสำคัญ รัฐบัญญัติภาษีศุลกากรสมู้ท-ฮอว์ลี ได้กำหนดให้เก็บภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้าในอัตราสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นผลให้มีการ ”ส่งออก” ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯไปสู่ส่วนต่างๆของโลก ประเทศส่วนใหญ่รีบทำการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรของตนเองบ้าง ทำให้เกิดภาวะตกต่ำทางการค้าของโลกอย่างร้ายแรง และส่งผลให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก การเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติฉบับนี้ค่อยๆลดลงจากผลของการเจรจาและจากการบรรลุข้อตกลงภายใต้โครงการข้อตกลงทางการค้าแบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1943 และจากผลของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า(แกตต์)นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 อย่างไรก็ดี ยังมีการใช้การเก็บภาษีในอัตราสูงอย่างที่บัญญัติไว้ในรัฐบัญญํติสมู้ท-ฮอว์วีนี้กับประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของแกตต์ และที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง จากผลร้ายของรัฐบัญญัติภาษีศุลกากร สมู้ท-ฮอว์ลีนี้เป็นการย้ำเตือนให้ได้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันของชาติทั้งหลายในเศรษฐกิจของโลก และให้ได้เห็นถึงภัยที่จะเกิดจากลัทธิปกป้องอีกด้วย
No comments:
Post a Comment