นโยบายทางการค้า:ภาวะการแข่งขันกัน
สิ่งจำเป็นในตลาดโลกเสรีที่จะทำให้สามารถแข่งขันอย่างได้ผลกับผู้ผลิตชาติอื่นทั้งหลายในการผลิตและการขายสินค้าและบริการ แนวความคิดในเรื่องภาวะการแข่งขันนี้ มีสมติฐานว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติ อย่างเช่น ภาวะการว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ และภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า เป็นต้น สามารถดำเนินการแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มผลิตภาพให้มากๆ เมื่อชาติประสบกับปัญหาการเสียเปรียบดุลการค้ามากๆและเงินตราของชาติก็พลอยสูญค่าแลกเปลี่ยนไปนั้น ผู้ให้การสนับสนุนหลักการภาวะการแข่งขันกันนี้ มีข้อสมมติฐานว่า เศรษฐกิจของชาติจะต้องได้รับการปรับปรุงทางสถานะการแข่งขันขึ้นมา ซึ่งข้อนี้หมายถึงว่า ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคแรงงาน ก็จะต้องร่วมมือกันดำเนินนโยบายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของชาติตนเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ
ความสำคัญ ภาวะการแข่งขันนี้หากนำไปใช้ในสหรัฐอเมริกา ก็หมายถึงความจำเป็นสำหรับสหรัฐอเมริกาที่จะต้องพัฒนาสถานะทางการค้าและการลงทุนให้เอื้ออำนวยมากกว่าเก่าในเศรษฐกิจของโลก ส่วนชาติอื่นก็หมายถึงว่าจะต้องมีการต่อสู้ชิงดีชิงเด่นเพื่อผลิตให้มาก ขายให้มาก และให้ได้กำไรมากกว่าคู่แข่ง ประเทศที่มีภาวะแข่งขันสูงมากที่สุดในทศวรรษปี 1980 ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ ชาติที่เคยเป็น”เต้ย”ทางด้านการค้าและการคลังนั้น ได้พบว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ คือ ได้เกิดการผลิกผันจากชาติที่เคยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลกมาเป็นชาติลูกหนี้รายใหญ่ของโลกไปเสียก็มี สหรัฐอเมริกาได้พยายามแก้ไขปัญหาการเสียเปรียบดุลการค้าที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและปัญหาการกู้ยืมระยะยาวที่ไม่มีกำหนดด้วยวิธีการลดค่าเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯมีราคาถูกลงทำให้สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างชาตินั้นก็มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมและเป็นสินค้าที่เข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯน้อยลง แต่ด้วยเหตุที่การแก้ไขโดยวิธีนี้ไม่ก่อผลเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทันตาเห็น ก็จึงได้มีการรณรงค์ให้มีการเพิ่มภาวะการแข่งขันนี้โดยการเพิ่มผลิตภาพ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้น ชาติส่วนใหญ่มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีภาวะการแข่งขันนี้ให้มากยิ่งขึ้น
No comments:
Post a Comment