ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ
ช่วงหนึ่งของวงจรทางเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะชะงักงัน ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ดีเปรสชั่น” หรือ “สลัมพ์” นี้จะมีลักษณะสำคัญ คือ (1) เกิดการถดถอยทางธุรกิจ (2) คนมีอำนาจซื้อน้อยลง (3) มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก (4) เกิดภาวะเงินฝืด และ (5) ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นลดลงมาก ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนนี้ เมื่อมีความล้มเหลวในการทำงานเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจอย่างหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ตกต่ำต่อไปยังภาคธุรกิจอื่นๆและนำไปสู่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจโดยรวมขึ้นมาได้ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในประเทศทุนนิยมทั้งหลายจะเกิดชึ้นในช่วงหลังจากที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นสู่ระดับสูงสุดแล้ว ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตและในด้านการขยายตัวทางเครดิตที่ส่งผลให้เกิดการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุด เนื่องจากมีความโยงใยถึงกันและกันของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะกระจายออกไปนอกพรมแดนของประเทศนั้นสู่ประเทศอื่นๆได้ ความถดถอยทางเศรษฐกิจหรือที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า “รีเซสชั่น” นั้นเป็นการตกต่ำทางเศรษฐกิจที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าและมีช่วงเวลาที่สั้นกว่าภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้
ความสำคัญ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจมักจะส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งในด้านความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ด้านความวุ่นวายทางสังคมและการเมือง ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกในทศวรรษปี 1930 ทำให้เกิดยุคชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ยุคเผด็จการ และยุคสงครามที่มีความรุนแรงไม่มีครั้งใดเสมอเหมือน ในช่วงที่ยังมีสงครามเย็น กล่าวคือช่วงที่มีการแข่งขันต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายโลกเสรีกับฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้น ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆในชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบร้ายแรง คือจะทำให้คนหันไปนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ทฤษฎีทางเศรษฐกิจในแบบคลาสสิกเห็นว่า ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถแก้ไขได้ด้วยพลังแก้ไขตนเองทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในระบบทุนนิยม ในปัจจุบันได้มีการนำเอาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางเศรษฐกิจมาใช้ในนโยบายทางการคลังและทางการเงินของภาครัฐบาลเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจของชาติเลื่อนไถลไปสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า รีเซสชั่น นั้น เมื่อรัฐบาลปฏิบัติการดังนี้ คือ (1) ให้คนเลิกออมทรัพย์ (2) สนับสนุนให้มีการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยเงิน (3) ทำการลดภาษี (4) จัดหางานให้คนทำ และ (5) ให้การส่งเสริมขวัญและกำลังใจ เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไม่เลื่อนไถลตกไปสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ได้ ชาติที่ประกอบการค้าชั้นนำทั้งหลายจะใช้นโยบายทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อช่วยให้เกิดเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของโลกเมื่อมีภัยจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเข้ามาคุกคาม ด้วยการใช้นโยบายดังกล่าวทำให้สามารถแก้ไขภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ทัน จนไม่ให้เกิดเป็นสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้
No comments:
Post a Comment