การพัฒนา : การด้อยพัฒนา
สภาวะที่แสดงออกถึงความล้าหลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เมื่อวัดโดยใช้มาตรฐานของสังคมที่พัฒนาแล้ว ลักษณะพิเศษของการด้อยพัฒนามีดังนี้ คือ (1) รายได้และผลิตภาพทั้งในระดับชาติและระดับรายหัวต่ำ (2) การไม่รู้หนังสือของประชากรมีอัตราสูง (3) มีอัตราการเกิดสูงและอัตราการตายต่ำทำให้เกิดสภาวะ ”ประชากรล้น” ประเทศ (4) มีการพึ่งพาเกษตรกรรมในระดับพอเพียงแต่เพียงอย่างเดียว (5) มีการใช้แรงงานเด็กมากและเด็กก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโอกาสทางการศึกษาน้อย (6) สถาบันทางการเมืองมีการรวมอำนาจ (7) มีโครงสร้างของชนชั้นแบบกระชับ คือ มีการเคลื่อนย้ายทางสังคมน้อย และ (8) มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการคมนาคมและการขนส่งอยู่ในระดับยังล้าหลัง
ความสำคัญ การด้อยพัฒนาซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เคยได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนหลายล้านคนมานานหลายศตวรรษมาแล้วนี้ ได้ถูกโจมตีจากสังคมดังกล่าวในปัจจุบัน กระบวนการสร้างความทันสมัยเพื่อจะเอาชนะการด้อยพัฒนานั้นจะใช้วิธีเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบการพึ่งพาตนเองได้มาใช้แทนภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ก็จะเกิดสภาวะ ”ช่องว่างของการเก็บกด” ที่มีอันตรายในสังคม กล่าวคือ คนในสังคมจะไม่ยอมรับว่าความยากจนเป็นเรื่องธรรมดาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป ทว่าการขาดแคลนเงินออมและเงินลงทุน การปฏิเสธที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการที่มีประชากรเพิ่มทวีเป็นจำนวนมาก เหล่านี้ล้วนเป็นตัวขวางกั้นมิให้ชาติเหล่านี้ก้าวหน้าต่อไปได้ การให้ความช่วยเหลือเพื่อจะให้สามารถเอาชนะการด้อยพัฒนาที่รัฐพัฒนาแล้วทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออกตลอดจนที่องค์การระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกหยิบยื่นให้นั้นมีความคืบหน้าไปน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดกันในระดับรายหัวของประชากรด้วยแล้ว
No comments:
Post a Comment