ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ลัทธิเคนส์
ปรัชญาและแนวปฏิบัติในการใช้กลไกของรัฐบาล กล่าวคือ นโยบายการคลังและการเงิน เพื่อเป็นแนวทางและชี้นำเศรษฐกิจที่มีการประกอบการโดยเสรี ลัทธิเคนส์มีรากฐานมาจากหลักการและการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เป็นลัทธิที่ต้องการจะปรับปรุงลัทธิทุนนิยม โดยกำหนดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแบบที่มีระบบและสามารถพยากรณ์ได้ด้วยการอิงอาศัยตัวชี้นำทางเศรษฐกิจที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจนำมาใช้ เทคนิคที่พวกยึดแนวลัทธิเคนส์นำมาใช้เพื่อดำเนินการเศรษฐกิจของรัฐ ก็คือ ให้ภาครัฐบาลทำการควบคุมและชี้นำเรื่องต่างๆ เช่น การคลัง การใช้จ่าย นโยบายภาษี อัตราดอกเบี้ย และการเครดิต ลัทธิเคนส์ต้องการจะให้ผู้นำรัฐมีระบบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเหตุและผล แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามพลังของตลาดโดยอิสระที่ไม่มีการชี้นำใดๆอันเป็นลักษณะของแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เคนส์เชื่อว่า ปัญหาหลักของทุนนิยม ก็คือ มีการออมเกินไป และเขาได้กล่าวถึงสิ่งที่ภาครัฐบาลควรกระทำไว้หลายอย่างเพื่อส่งเสริมให้มีการนำเงินออมไปใช้ในการลงทุนและในการบริโภคจับจ่ายใช้สอย เคนส์มุ่งให้ความสนใจในบทบาทของนโยบายการคลังของภาครัฐบาลที่จะแก้ไขการเสียสมดุลระหว่างโพเท็นเชียลเอ้าท์พุต(ที่ควบคุมโดยปัจจัยทางอุปทาน) กับ แอ็คชวลเอ้าท์พุต (ที่ควบคุมโดยอุปสงค์รวมของผู้บริโภค ผู้ลงทุน และรัฐบาล)
ความสำคัญ แนวทาง ”เศรษฐศาสตร์ใหม่” ที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักการเคนส์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกและในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปให้เป็นนโยบายของรัฐในหมู่รัฐที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมของโลก บรรดาผู้นำทางการเมืองทั้งหลายต่างก็ได้ทำการตกลงใจทางด้านเศรษฐกิจของรัฐตนโดยอิงอาศัยข้อเสนอแนะของบรรดาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจซึ่งได้ยอมรับแนวทางลัทธิเคนส์นี้มากยิ่งขึ้น ในการบริหารเศรษฐกิจของชาตินั้น พวกที่เชื่อถือในลัทธิเคนส์ได้หาทางป้องกันมิให้เกิดการเคลื่อนไหวตามวงจรทางเศรษฐกิจ สภาวะการตกงาน และสภาวะเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ลัทธิเคนส์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาในการแก้ไขปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย อย่างไรก็ดีลัทธิเคนส์นี้ได้อ่อนกำลังลงเนื่องจากสภาวะหนี้สินของภาครัฐบาลและสภาวะหนี้สินของผู้บริโภค ตลอดจนเกิดสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จึงได้ถูกท้าทายโดยแนวทางใหม่ 2 แนวทาง คือ (1) ลัทธิการเงิน ที่เน้นให้มีตลาดเสรีโดยให้ภาครัฐบาลมีนโยบายมุ่งควบคุมอุปสงค์ของการเงิน และ (2) เศรษฐศาสตร์ด้านอุปทาน ซึ่งเน้นนโยบายด้านภาษีและนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมอันเป็นมรรควิธีที่จะช่วยให้บรรลุถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปได้
No comments:
Post a Comment