ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ : ลัทธิพาณิชยนิยม
ปรัชญาและแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ให้ภาครัฐบาลทำการควบคุมวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของชาติเพื่อเพิ่มพูนอำนาจและความมั่นคงของรัฐ ลัทธิพาณิชยนิยมได้มอบแบบจำลองทางเศรษฐกิจให้รัฐต่างๆในทวีปยุโรปได้นำไปปฏิบัตินับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 มาจนถึงคริสตสตวรรษที่ 18 ซึ่งแต่ละรัฐก็ได้พยายามเพิ่มพูนทรัพย์สินของตนโดยให้มีการส่งออกสินค้ามากกว่าสั่งเข้าสินค้าเพื่อจะได้มีดุลการค้าที่ได้เปรียบ ซึ่งก็ส่งผลให้มีการไหลเข้ามาซึ่งทองและเงิน อุตสาหกรรมภายในประเทศได้รับการส่งเสริมโดยรัฐดำเนินนโยบายทางการเกษตรและการเหมืองแร่ ทั้งนี้เพราะการผลิตสินค้าสำเร็จรูปจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางเรือและลดราคาสินค้าลงได้มาก อาณานิคมได้ถูกใช้ให้เป็นแหล่งหาวัตถุดิบราคาถูกๆและเป็นตลาดจำหน่ายเครื่องอุปโภคที่มีราคาแพงๆ รัฐบาลได้วางกฎเกณฑ์และทำการควบคุมทุกภาคของเศรษฐกิจแห่งชาติ ค่าจ้างกำหนดให้ต่ำเข้าไว้เพื่อจะให้รัฐมีกำไรเก็บเข้าคลังหลวงมากๆ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความขยันขันแข็งในหมู่มวลชนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งตอนนั้นเชื่อกันว่า พวกนี้หากได้ค่าจ้างมากๆก็จะเกียจคร้านทำงาน
ความสำคัญ ระบบพาณิชยนิยมได้เข้าครอบงำเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่จวบจนกระทั่งทฤษฎีเสรีนิยมแบบปัจเจกชนได้เข้ามาแทนที่ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงแม้ว่าทฤษฎีพาณิชยนิยมจะเสื่อมความนิยมในเวลาต่อมา แต่ก็เป็นแนวปฏิบัติที่มีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มพูนอำนาจรัฐในช่วงที่เกิดสงครามและช่วงที่ความอยู่รอดของชาติจะต้องอาศัยความสามารถของรัฐทางด้านการเงินที่จะจ้างคนและธำรงกองทัพอันประกอบด้วยทหารอาชีพเข้าไว้ให้ได้ แนวปฏิบัติ “ลัทธิพาณิชยนิยมแบบใหม่” อย่างเช่น เน้นให้มีดุลการค้าที่ได้เปรียบ ตลอดจนให้ภาครัฐบาลทำการวางข้อกำหนดและสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางนี้ ก็ยังมีรัฐต่างๆนำมาปฏิบัติจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ และก็ยังมีบางชาติพยายามจะสร้างระบบสำรองทองคำของตนโดยมีความเชื่อเหมือนอย่างที่พวกพาณิชยนิยมว่า ทองคำซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีคุณค่ามากนี้จะช่วยเพิ่มพูนอำนาจรัฐได้ ส่วนรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์นั้นมีอุดมคติที่ใกล้เคียงกับลัทธิพาณิชยนิยม เพราะถือว่านโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ทางการเมืองของรัฐ
No comments:
Post a Comment